เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2567, 17 –25 AUG

Catalyst The Bliss

Enter the Void

"Enter the Void" เป็นอีพีที่ทำร่วมกันโดยเพื่อนสนิทสองคน กฤตนน รักนุ่น (ครูเพลง) และ ฐาณิศร์ สินธารัตนะ (แฮม) โดยโปรเจคนี้เป็นต่อยอดจากการร่วมงานกันในโปรเจคของ Smmuti Studio ที่ต้องการรวบรวมเพลงจากกลุ่มเพื่อน ในตอนนั้นครูเพลงและแฮมได้ทำเพลง "สัสดีครู" ซึ่งเป็นการดัดแปลงจากการแสดงสดของมโนราห์ เกรียงเดช นวลระหงส์ จากจังหวัดพัทลุง เมื่อเพลงเสร็จทั้งคู่จึงตัดสินใจทำเพลงอื่นเพิ่มเติม โดยนำบทเพลงสองบทของครูเพลงที่แต่งขึ้นสำหรับคอนเสิร์ตปริญญาโทคือ "นาดฤๅษี" และ "กาศครู" รวมถึงอีกหนึ่งผลงานของแฮมคือ "ผีฟ้า" ซึ่งผสมผสานการแสดงสดของดนตรีหมอลำจากชาวลาวโซ่งในอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี รายละเอียดเพลงและการแสดง: 1. บทกาศครู บทกาศครูเป็นบทร้อยกรองโนราไม่มีท่ารำประกอบ กาศในที่นี้แปลได้สองความหมายคือ การอธิษฐานหรือประกาศถึงคุณความดีของครู ในบทนี้จะกล่าวถึงความเป็นมาและความสำคัญของมโนรา คุณงามความดีของครูบาอาจารย์ที่มีต่อศิษย์ และแสดงถึงความเคารพและสำนึกในคุณครู 2. บทสัสดี บทนี้เป็นบทสำหรับรวมไหว้ครูและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรียกอัญเชิญวิญญาณครูมาร่วมในพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อโนรา ป้องกันการเจ็บป่วยและขจัดสิ่งไม่ดีที่อาจเกิดขึ้น การกล่าวบทสัสดีนี้มีความสำคัญเนื่องจากหากนายโรงทำพิธีกรรมผิดพลาด อาจก่อให้เกิดปัญหาทางร่างกายและจิตใจ บทนี้จึงใช้เพื่อขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลังจากพิธีกรรมถวายข้าวของ 3. นาดฤๅษี นาดหมายถึงการเดินอย่างช้าๆ เหมือนการเดินของฤาษีที่ดูสุขุม บทเพลงนี้ถูกใช้เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ เช่น เปลี่ยนจากจังหวะเร่งเร้าไปสู่จังหวะช้าลง 4. ผีฟ้า "ผีฟ้า" เป็นเพลงที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จากเพลงหมอลำดั้งเดิมของชาวลาวโซ่งในอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี จุดมุ่งหมายคือการสื่อสารและเชื่อมโยงประสบการณ์ทางจิตวิญญาณส่วนบุคคลกับมรดกทางวัฒนธรรมของการนับถือผีของชุมชนลาวโซ่ง ด้วยจังหวะกลองที่ซับซ้อนและเสียงสังเคราะห์ที่ลอยเหมือนผี สื่อถึงความสนุกสนานและการเชื่อมต่อกับโลกวิญญาณ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่พบเห็นได้ในวัฒนธรรมและวัฒนธรรมย่อยของไทย