เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2567, 17 –25 AUG

The Making of Livable City Project การเพิ่มความน่ารักและยกระดับความน่าอยู่ในพื้นที่ ด้วยวิธีสร้างสรรค์งานออกแบบที่หยิบจับสินทรัพย์มาต่อยอด

เผยแพร่เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว

The Making of Livable City Project การเพิ่มความน่ารักและยกระดับความน่าอยู่ในพื้นที่ ด้วยวิธีสร้างสรรค์งานออกแบบที่หยิบจับสินทรัพย์มาต่อยอด

ถ้าจะบอกว่านี่คือกลุ่มคนที่ชวนกันมาทำโปรเจกต์เชิงทดลองสนุกๆ โดยมีโจทย์เรื่อง ‘เมือง’ เป็นตัวตั้ง ดูแล้วอาจเป็นเรื่องที่ยากและไกลตัว

คำว่า ‘เมือง’ มักจะมีคำนิยามกำหนดไว้หลายแบบ หากว่ากันรวบย่อในแวดวงวิชาการนั้น เมืองขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคม ประวัติศาสตร์ รวมทั้งอำนาจทางวาทกรรมที่กินครอบไปถึงพื้นที่และเวลา แต่นั่นเป็นเพียงการนิยามคำว่าเมืองแค่ ‘ภาพตัวแทน’ ของเมืองเท่านั้น ในขณะเดียวกัน เมืองยังเป็นสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คน ซึ่งสภาพแวดล้อมทาง ‘กายภาพ’ ในที่นี้ คือ คุณภาพชีวิตในแบบที่เราไม่ต้องคอยกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเปิดประตูออกจากบ้าน เช่น การเดินข้ามทางม้าลาย การเดินย่ำเท้าบนฟุตบาท หรือกระทั่งการจราจรบนท้องถนน เป็นต้น

ในเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ปีนี้ ได้มีการหยิบโปรเจกต์สร้างความน่าอยู่ให้กับเมืองมาทำอย่างเป็นรูปธรรม จากกระบวนการการมีส่วนร่วม สู่สารตั้งต้นการพัฒนาพื้นที่ที่สอดแทรกความคิดสร้างสรรค์ลงไปในย่านเมืองเก่าสงขลา ผ่านงานออกแบบแต่งแต้มสีสันบรรยากาศที่ผ่อนคลายในพื้นที่ โดยสตูดิโอนักออกแบบและคนทำงานด้านเมืองอย่าง Cloud-Floor x Orbi Design, ไตรโหมด (Trimode), Na Studio x meltdistrict และสัมผัสแกลเลอรี (Sumphat Gallery) พวกเขาใช้พื้นที่สาธารณะ หรือ ‘Public Space’ ให้เมืองเกิดการคอนเน็กต์กับผู้คน ด้วยการดึงจุดเด่นในชุมชนหรือย่านจนเกิดประโยชน์ใหม่ๆ เพื่อให้เห็นถึง ‘ความเป็นอยู่’ ทั้งทางวัฒนธรรม งานคราฟต์ หรืองานออกแบบ ที่สำคัญคือการเชื่อมความเป็นเมืองให้เป็นเรื่องใกล้ตัว

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญในการต่อจิ๊กซอว์ของนิยามคำว่า ‘เมืองน่าอยู่’ และ ‘เมืองที่ดี’ ที่ต้องอาศัยการลงมือปฏิบัติเพื่อให้ผู้คนในเมืองใช้ชีวิตที่ดียิ่งขึ้นด้วยสภาพแวดล้อมทางกายภาพได้จริงๆ


Livable City Project สร้างมูลค่าให้เมืองที่เคยผูกพัน

ฟิวส์-นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย ตัวแทนจาก Cloud-Floor x Orbi Design เล่าว่า Livable City Project หรือโปรเจกต์สร้างความน่าอยู่ให้กับเมือง คือโปรเจกต์ที่อยู่ภายใต้ City Project (โปรเจกต์พัฒนาเมือง) ที่อยากพัฒนาพื้นที่สาธารณะในมิติของการยกระดับคุณภาพของชีวิตและเศรษฐกิจในย่านเมืองเก่าสงขลาให้ดีขึ้น โดยมีโจทย์ว่า ถ้าจะให้เมืองเก่าสงขลาเกิดความเป็น Livable City ได้จริง ต้องประกอบด้วย หนึ่ง การรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่และทางเทศบาล (ซึ่งมี เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล คอยช่วยประสานงาน) สอง ระดมคนในพื้นที่ของเทศบาลในย่านเมืองเก่าสงขลา 20-30 คน มานั่งถกประเด็นกันตั้งแต่เรื่องขยะ รวมไปถึงการจัดการขยะให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ทางเดินเท้าที่น้อย ซึ่งอาจมีปัจจัยมาจากป้ายวันคู่วันคี่ที่ทำให้การจอดรถทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวสับสน และสาม เทศบาลมีนโยบายให้ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในย่านเมืองเก่าและหาดสมิหลา

“จากโจทย์ทั้ง 3 ข้อนี้จึงเป็นที่มาของโจทย์ใหญ่คือ การเดินเท้าอย่างสะดวกสบายขึ้น การจัดการเรื่องขยะ และการส่งเสริมการท่องเที่ยว จากนั้นจึงแบ่งออกเป็น 6 โจทย์ย่อย อย่าง ‘เดินสบาย’ ‘เดินสะอาด’ ‘เดินเล่น’ ‘เดินรู้’ ‘เดินพัก’ และ ‘City Branding’ ซึ่งปีนี้ทำ 5 ผลงานก่อน ส่วน City Branding ได้นำเสนอกับทางเทศบาลให้ทำเป็นการประกวดออกแบบ City Branding ในปีหน้า

“ต่อมาเราก็คอลแลปกับดีไซเนอร์อีก 3 ทีม ทั้ง Na Studio x meltdistrict, สัมผัสแกลเลอรี (Sumphat Gallery) และไตรโหมด (Trimode) ซึ่งต่อยอดแนวคิดออกมาเป็น 6 ผลงาน อย่าง ‘เดินหรอย’ ‘Bin Tower’ ‘เล่าตามตรอก บอกตามประตู’ ‘Neighbors’ ‘Samila Mermaid’ และ ‘Songkhla in Transition: The Mid-Century Facade’ ที่เราเลือก 3 ทีมนี้ เพราะเราใช้เกณฑ์ในการเชิญดีไซเนอร์มาจาก ‘ความผูกพัน’ กับสถานที่ อย่าง Na Studio และทีมไตรโหมดก็เกิดและโตที่สงขลา ส่วนสัมผัสแกลเลอรีก็ทำงานกับชาวบ้านในกลุ่มมโนราห์มาค่อนข้างเยอะ เราเองก็มีน้องที่รู้จักมีบ้านเกิดที่สงขลา เลยใช้ความเชื่อมโยงเกี่ยวกับพื้นที่ วัฒนธรรม และประเภทของงานมาประกอบเข้าด้วยกัน” ฟิวส์อธิบาย


Cloud-Floor x Orbi Design : เดินหรอย, Bin Tower, เล่าตามตรอก บอกตามประตู

เริ่มจากกลุ่ม Cloud-Floor ที่ฟิวส์เล่าเรื่องเกี่ยวกับการ ‘เดินรู้’ ในชื่อ ‘เดินหรอย’ ที่ทำให้เดินสะดวกและปลอดภัยขึ้น อย่างถนนนางงามจะเห็นการทำทางเดินเท้าหรือ Walkway ด้วยสีชมพู สีขาว หรือสีเขียว ทาทับตรงทางเดินเท้าที่มีรูปช่องลมหรืออาคารตามย่านเมืองเก่าสงขลา และรูปผู้หญิงทั้งสามเจนเนอเรชั่น ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ เพื่อเชื่อมโยงกับชื่อถนนนางงาม

ส่วน Bin Tower เราร่วมมือกับร้านค้าในย่าน โดยนำตัวถังขยะไปตั้งตามร้านกาแฟและร้านไอศกรีมในย่านเมืองเก่าสงขลาจำนวน 10 ร้านค้า เพราะร้านกาแฟมักก่อเกิดขยะพลาสติกในย่านมากที่สุด กลุ่ม Cloud-Floor จึงช่วยกันดูแลและทดลองกันว่าวิธีนี้เวิร์กหรือไม่ โดยมีการแยกขยะทุกชิ้นส่วน เช่น แยกน้ำหรือน้ำแข็ง แยกหลอด แยกฝาแก้ว แยกแก้วพลาสติกและขวด รวมถึงกระป๋อง ด้วยการดีไซน์ให้เห็นสัดส่วนของการแยกชิ้นส่วนของขยะอย่างชัดเจน ผลตอบรับที่มาจากการติดตามของฟิวส์พบว่า ผู้คนมีการแยกขยะอย่างถูกต้องตามที่จัดไว้ถึงร้อยละ 30%

ฟิวส์เล่าว่า แม้แต่ถังขยะในย่านเมืองเก่าของเทศบาลก็มีการออกแบบเพื่อให้คนทิ้งขยะเห็นได้ชัดขึ้นว่า ตรงนี้ทิ้งขยะรีไซเคิล หรือตรงนี้ทิ้งขยะทั่วไป ซึ่งเมื่อออกแบบให้เห็นชัดเจน อย่างการใช้สี การใช้ฟอนต์ หรือการใช้ฟอร์แมตที่สื่อว่าตรงนี้คือจุดแยกขยะ ปรากฏว่าการแยกขยะเกิดการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ หรือแม้กระทั่งป้ายบอกตำแหน่งการจอดรถ ‘วันคู่-วันคี่’ เมื่อมีการออกแบบโดยใช้สีที่ดูเด่นสะดุดตา ออกแบบการใช้ภาษา วัน เวลา ที่บ่งบอกชัดเจนถึงการนำรถมาจอดบริเวณริมถนน มีภาษาอังกฤษและภาษาจีนเพื่อซัพพอร์ตชาวต่างชาติที่เข้ามาในพื้นที่ ทำให้การออกแบบป้ายการจราจรนี้ได้ผลตอบรับที่ดีจากคนในย่านมากทีเดียว ซึ่งยังเชื่อมโยงกับผลงาน ‘เล่าตามตรอก บอกตามประตู’ ที่เชื่อมเรื่องราวจากชุมชนในย่านได้เช่นเดียวกัน

แต่ไม่ว่าอย่างไร ฟิวส์ย้ำว่า “การแก้ปัญหาในพื้นที่ เช่น ทางเดินเท้า การทำให้คุณภาพชีวิตของคนเมืองทั้งในชุมชนหรือย่านดีขึ้น ต้องเริ่มจากคนในพื้นที่ก่อน แล้วนำปัญหาเหล่านั้นมาสู่กระบวนการขั้นตอนในการปฏิบัติ”

สัมผัสแกลเลอรี่ Sumphat Gallery : Samila Mermaid พานางเงือกกลับสงขลา

แนวคิดในการเล่าเรื่องราวของนางเงือกให้กลายเป็นวิถีชีวิตของคน ด้วยช่างหัตถกรรมจากสงขลาและนครศรีธรรมราช และการระบำพื้นบ้านอย่างระบำรองเง็ง

เดิมที ‘รัฐ เปลี่ยนสุข’ หรือสัมผัสแกลเลอรี (Sumphat Gallery) เป็นสถาปนิกที่ทำงานกับช่างหัตถกรรม แต่เมื่อทำงานไปเรื่อยๆ รัฐถามตัวเองว่าพอยต์ของชีวิตคืออะไร และนอกจากงานหัตถกรรมจริงๆ แล้วพอยต์คืออะไรอีก สุดท้ายพบว่า หนึ่งคือการเข้าไปทะนุรักษางานหัตถกรรมของชุมชน และการหารายได้ให้ชุมชนเพื่อหล่อเลี้ยงครอบครัว สองคือเรื่องของสิ่งแวดล้อมต้องกลมกลืนกับชีวิตและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมไปด้วย 

อย่างเช่นงานที่ผ่านมาของสัมผัส คือการรำชาตรี ซึ่งจัดที่ย่านนางเลิ้ง พร้อมกับการทำโปรเจกต์เรื่องสัตว์ป่า เพื่อช่วยเหลือสัตว์ป่าที่นครนายกไปด้วย เพราะในช่วงหลังสัมผัสนำเรื่องซอฟต์พาวเวอร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซอฟต์พาวเวอร์คือการทำให้เกิดการซึมซับไปเรื่อยๆ เพราะเขามองว่า คนส่วนใหญ่คิดว่าซอฟต์พาวเวอร์คือการฮาร์ดเซล แต่ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไม่ใช่แค่นั้น แต่ต้องทำให้ชีวิตและวิถีชีวิตของคนได้เดินหน้าต่อ รัฐเลยมองเห็นหาดสมิหลาที่แสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คน แล้วยังมีตำนานเรื่องนางเงือก ซึ่งเขาได้ยินเรื่องนางเงือกทั้งจากหลายเรื่องราว รวมถึงยังเป็นมุมมหาชนในการถ่ายรูป จึงคิดว่าเรื่องเล่านางเงือกเหมาะที่จะต่อโจทย์ให้กลายเป็นวิถีชีวิตของคนได้


“เราอยากให้เรื่องเล่าในตำนานและความเป็นธรรมชาติมาผูกโยงเข้าด้วยกัน อย่างนางเงือกจะมีเรื่องเล่า ความเป็นธรรมชาติคือ ที่หาดสมิหลาจะมีนกแก้วอาศัยอยู่ที่นี่ 20 กว่าตัว เราเลยหันมามองโจทย์ว่าจะทำยังไงให้คนที่เป็น Stakeholders นำสิ่งเดิมๆ ไป Input ต่อได้ เลยแตกประเด็นออกมาได้ 4 ประเด็น หนึ่งคือ ช่างทำว่าว ช่างทั้งหมดจะมีองค์ความรู้หมดเลย เชื่อกันว่า หาดสมิหลาเคยมีนางเงือกขึ้นมาบนชายหาด เราเลยผูกเรื่องนางเงือกด้วยการพานางเงือกกลับสู่หาดสมิหลาอีกครั้ง ทั้งการใช้เชือกเล่นว่าวรูปนางเงือก หรืองานศิลปะจัดวางด้วยโมบายรูปนางเงือกก็วางตั้งบนริมชายหาดสมิหลาเช่นเดียวกัน

สอง ช่างทำบาติก แต่เดิมเป็นช่างทำกรวยลมรูปปลาคาร์ฟ จึงเปลี่ยนมาทำกรวยลมรูปนางเงือกแทน ที่มีความเชื่อกันว่า ถ้านำไปแขวนที่หน้าบ้านใครจะทำให้คนรักคนหลง รวมถึงกระเป๋าถักใส่ของใช้ที่ได้แนวคิดจากกระเป๋าเก็บทรัพย์สมบัติของนางเงือกที่อยู่ใต้ทะเล สาม ชมรมแม่บ้านจากนครศรีธรรมราชที่ทำถุงเชือกกล้วยขาย เราก็เลยเอามาทำถุงเชือกเป็นรูปหางปลาให้เป็นตัวแทนนางเงือก เพื่อให้นักท่องเที่ยวระลึกได้ว่า หาดสมิหลาคือตัวแทน Symbolic ของนางเงือก และสี่ การระบำนางเงือก หรือการนำดนตรีเข้ามาเชื่อมกับงานหัตถกรรม เพราะเราเชื่อว่าดนตรีเป็นซอฟต์พาวเวอร์ด้วย เราเลยจัดการแสดงระบำร็องเง็ง เป็นเหมือนการรำแฟลชม็อป ว่านี่คือโซนของนักดนตรีหรือโซนของนางรำเพื่อให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม การระบำรองเง็งจะมีอาจารย์จาก ม.ราชภัฏสงขลามาช่วยออกแบบท่ารำนางเงือกด้วย” รัฐอธิบาย



รัฐเสริมอีกว่า “ตรงนี้เราคิดว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ มันคือ ‘พลังของเรื่องเล่าและเรื่องราว’ เราเอาทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางธรรมชาติ มาแปรผ่านให้ตกไปถึงช่างหัตถกรรม ต่อมาเมื่อคนมาเที่ยวหาดสมิหลา คนก็จะเริ่มมองหานางเงือก ทั้งที่เมื่อก่อนคนอาจจะไม่เคยสังเกตเลยด้วยซ้ำ เราทำกิจกรรมเพื่ออยากให้คนสังเกตนางเงือกกันมากขึ้น หรืออยากให้คนฝึกเล่าเรื่องราวต่อกันได้ หรือคนเป็นเจ้าของธุรกิจมาเห็นก็อาจจะได้ไอเดียแล้วนำไปต่อยอดธุรกิจของตัวเองได้”

ส่วนรายได้บางส่วนจากการร่วมมือกับช่างหัตถกรรมจะนำไปฟื้นฟูสระนางเงือก (แถวหน้าลานกิจกรรมใกล้กับร้านค้าที่หาดสมิหลา) ซึ่งว่ากันว่าบริเวณสระนางเงือกตรงนั้นคือลูกชายของนางเงือก และในอนาคต สัมผัสจะมีโปรเจกต์สร้างเครือข่ายจากชาวบ้านในพื้นที่ นั่นคือ ‘พี่เลี่ยม’ (กรรมการว่าวไทย) กับ ‘ลุงอ้อย’ ให้พวกเขาได้ทำงานกับคนในพื้นที่และต่อยอดความร่วมมือเพื่อหาทางกระจายรายได้ให้แก่ชาวบ้าน

Na Studio X meltdistrict : Songkhla in transition: The mid-Century Façade

Na Studio ชวน Walking Tour ตามจุดต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ของเมืองในย่านเมืองเก่าสงขลา และการจัดแสดงผลงานศิลปะจัดวางที่นำไอเดียจากอาคารในยุคโมเดิร์นของย่านเมืองเก่าสงขลา และการออกแบบเก้าอี้หรือผลิตภัณฑ์จากพลาสติกเหลือใช้ร่วมกับ meltdistrict

หากย้อนกลับไป ‘นะ’ หรือ ‘Na Studio’ เกิดที่หาดใหญ่ แต่ไปโตที่กรุงเทพฯ แล้วไปเรียนต่อด้านออกแบบที่ต่างประเทศ ไม่นานก็กลับมาทำงานออกแบบที่เชียงใหม่เป็นหลัก ปัจจุบันทำสตูดิโอเป็นของตัวเองชื่อว่า Na Studio ที่รับออกแบบแบรนด์ดิ้ง งานกราฟิก แฟชั่นแบรนด์ ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ และเป็นเจ้าของร้านอาหารดีไซน์สุดแซ่บอย่าง อีเกิ้งเซิ้งไฟ (e.gerng) เคยร่วมโปรเจกต์ Made in Songkhla กับร้านยินดีสงขลาในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ปรากฏว่าหลังจากนั้นยอดขายทางร้านดีขึ้น

ด้วยความที่นะทำงานดีไซน์อยู่แล้ว เขาเลยหยิบจับซับเจกต์ในการทำงานดีไซน์ในย่านเมืองเก่าสงขลาที่รุ่มรวยไปด้วยงานสถาปัตยกรรมหลายรูปแบบ เพราะสถาปัตยกรรมมันเล่าเรื่องความเป็นมาของเมืองสงขลาได้ เลยกลายเป็นการนำเสนอสถาปัตยกรรมในย่านเมืองเก่าสงขลา ผ่านกิจกรรมพาชมสถาปัตยกรรมและจัดแสดงงานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากตึกเก่าในย่าน



ถ้าพูดถึงเมืองสงขลา คนอาจจะพูดถึง Gastronomy หรือเรื่องอาหาร แต่ถ้าเป็นเรื่องสถาปัตยกรรมคนยังไม่ค่อยพูดถึงซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว อีกทั้งตัวโปรเจกต์ที่ทำอยากพูดถึงเรื่อง Sustainability ด้วย เขาก็เลยทำงานศิลปะจัดวางในพื้นที่ (จัดแสดงที่ตรอกกรุงทอง ถนนนครนอก) ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากตึกต่างๆ ที่นะชอบ ซึ่งเป็นการออกแบบช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในยุคนั้นมีงานสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจหลายชิ้นในย่านเมืองเก่าสงขลา ซึ่งช่วงเวลานั้นสถาปัตยกรรมลักษณะนี้พึ่งเริ่มต้นในช่วงตะวันตก แต่ถูกหยิบมาสร้างเป็นตัวงานสถาปัตยกรรมแล้ว เขาเลยทึ่งกับงานสถาปัตยกรรมในยุคนี้ที่สงขลาเป็นพิเศษ

“ถ้าเป็นทัวร์ชมสถาปัตยกรรมตามยุโรปมักจัดเป็นทัวร์ตามจุดต่างๆ ตามย่านหรือมุมเมืองที่เกี่ยวข้องกับทางประวัติศาสตร์ของเมือง พูดถึงความรุ่มรวยหรือสภาพเศรษฐกิจในยุคนั้นๆ ส่วนในเมืองเก่าสงขลาเราร่วมกับสถาปนิกท้องถิ่นอย่างอาจารย์ปุ๊ ที่ครอบครัวของอาจารย์สร้างบ้านหรืออาคารมาแล้วสามชั่วอายุคน ก่อนที่จะมีตำแหน่ง สถาปนิก เข้ามาเสียอีก หนึ่งในตึกที่คุณพ่อของอาจารย์ปุ๊เป็นคนสร้างขึ้นมาจะอยู่บริเวณรอบๆ เมืองเก่าสงขลา เช่นร้านแต้เฮียงอิ๊ว ตึกหมออัมพร ร้านบลูสไมล์คาเฟ่“

นอกจากงานศิลปะจัดวางที่มีรูปทรงเรขาคณิตที่ได้มาจากอาคารบ้านเรือนในย่านเมืองเก่าแล้ว หากทันสังเกต ผลงานของนะที่บริเวณหน้า a.e.y.space ก็มีเก้าอี้สีชมพูตัวกลมวางเรียงกันราว 3-4 ตัว ที่ดูกลืนไปกับหน้าสเปซและย่านนั้น ซึ่งนะบอกว่า เก้าอี้สีชมพูคือแมททีเรียลที่ทำมาจากขวดแชมพูซันซิล ที่นำไปผ่านเครื่องย่อยพลาสติกแล้วเอามาหลอมกันเป็นแผ่น ความพิเศษของเก้าอี้ตัวนี้คือถอดประกอบใหม่ได้ตามอำเภอใจ 

ทั้งงานศิลปะจัดวางรูปทรงเรขาคณิต เก้าอี้ หรือชิ้นงานอื่นๆ นะเลือกวัสดุพลาสติกจาก meltdistrict โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างสองสตูดิมาทำเป็นวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด ตั้งแต่ขยะในร้านต่างๆ ไปจนถึงขยะที่เก็บได้จากทะเล ผลงานชิ้นนี้จึงเป็นการพูดถึงเรื่อง ‘เมือง’ และเรื่องของ ‘ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ’ เพื่อบ่งบอกถึงการอยู่ร่วมกับเมืองและรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

Trimode : NEIGHBORS

ด้วยความคุ้นเคยกับย่านเมืองเก่าและความผูกพันกับย่าน ในขณะที่กาลเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ไตรโหมดจึงเปลี่ยนย่านที่ผ่านกาลเวลาให้กลับมามีเสน่ห์อีกครั้ง

สำหรับทีมไตรโหมด (ภิรดา-ภารดี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา และชินภานุ อธิชาธนบดี) เป็นทีมที่ทำงานด้านการออกแบบ ทั้งการออกแบบตกแต่งภายใน ออกแบบร้านอาหาร นักพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างจิวเวลรี่ โดยไตรโหมดจะมีวิธีการคิดงานจากคอนเซปต์ที่ กำหนดแนวทางการสื่อสาร คือใช้การมองแบบคอนเซปชวล (Conceptual) แล้วนำสิ่งเหล่านั้นไปสร้างคุณค่าผ่านการดีไซน์ ผลงานของทีมไตรโหมดจึงมีความคิดที่ละเอียดและละเมียด แม้กระทั่งวัสดุที่เขาเลือกใช้ในการออกแบบก็ใช้การตีความและวิเคราะห์ควบคู่ไปกับการนำผลงานไปใช้อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมรวมถึงสภาพอากาศในพื้นที่นั้นๆ ด้วย


NEIGHBORS เป็นการเล่าเรื่องเก้าอี้ของบ้านในย่านเมืองเก่าจำนวน 7 หลัง ให้เข้ากับบริบทของย่านบนพื้นที่สาธารณะอย่างถนนยะหริ่ง การใช้เก้าอี้เล่าเรื่อง เหมือนเป็นการเล่นคำว่า มีเก้าอี้ = มี Chairs ก็เท่ากับมีเรื่องที่จะอยากจะ Share หรืออยากจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าของบ้านซึ่งเป็นเจ้าของเก้าอี้เหล่านั้น

พวกเขาบอกว่าอยากได้เก้าอี้ที่ใช้งานไม่ได้แล้วเพื่อนำมาซ่อมใหม่ ผ่านเทคนิคการมัดเงื่อนด้วยเชือกประมง งานที่ได้จะออกมาเป็นธรรมชาติและกลมกลืนไปกับเมืองเก่า เหตุที่พวกเขาเลือกเก้าอี้ที่ใช้งานไม่ได้ เพราะเข้ากับบริบททางสถาปัตยกรรม รู้สึกถึงความสมบูรณ์บางอย่างจากความไม่สมบูรณ์

“เราได้โจทย์มาว่าต้องจัดงานในพื้นที่ Public Space เป็นการชุบชีวิตเก้าอี้ไปด้วย เราเลือกเก้าอี้จากร้านฮับเซ่ง ร้านแต้ ร้านโชติภัณฑ์ ร้านอ่องเฮียบฮวด House No.239 หับโห้หิ้น และ Nodething เพื่อให้คนในพื้นที่เชื่อมโยงด้วยกันผ่านเก้าอี้ เราคิดว่าการต้อนรับแขกต้องมีเก้าอี้ เราเลยเปรียบเมืองเก่าเป็นบ้านหลังหนึ่งที่มีเก้าอี้ไว้ต้อนรับแขก แต่เสน่ห์ของสงขลามีความเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึกที่ไม่ใช่บริบทของเมืองจัดๆ เราอยากเก็บความรู้สึกตรงนี้ไว้ ซึ่งมันก็น่าจะดีถ้าคนในพื้นที่ได้แชร์เก้าอี้ด้วยกัน เหมือนให้คนในชุมชนช่วยกันรับแขกด้วย




“สเปซหรือพื้นที่เราใช้วิธีการเลือกโดยที่เราคิดว่าสเปซตรงนั้นน่าจะไม่ไปรบกวนการใช้งานของคนในพื้นที่ เราพยายามหากันหลายจุด จนมาจบที่ถนนยะหริ่งซึ่งเป็นทางเท้าที่ชัดเจนและมีเก้าอี้เดิมตั้งอยู่ก่อนแล้วด้วย แถมตอนเย็นๆ จะมีเด็กๆ มานั่งเล่นกันแถวนั้น เพราะว่ามีเก้าอี้เด็กอยู่ตรงนั้น เมื่อดูสเปซก็พยายามอยากให้บริบทมันมีความหมายอยู่ การยืมเก้าอี้เขามาก็เหมือนกับการนำเอาวิถีชีวิตของเขามาเล่าต่อด้วย”

สำหรับเรื่องของการตอบรับการใช้งานจากคนในพื้นที่ ไตรโหมดบอกว่าได้รับการตอบรับที่ดี พร้อมกับยื่นรูปของคนในพื้นที่ที่นั่งบนเก้าอี้ให้ดู แล้วก็พูดว่า “เก้าอี้พวกนี้มีการใช้งานจริงๆ”

อีกอย่างพวกเขาอยากนำเสนอภูมิปัญญาท้องถิ่นในสงขลา โดยไปเจอวัสดุธรรมชาติอย่าง ‘ใยตาล’ เลยนำมาทำเป็นร่มคันใหญ่หรือโคมไฟ เหมือนเป็นการต่อยอดให้เกิดการสร้างสรรค์ต่อไปไม่รู้จบ สอดคล้องกับคอนเซปต์ของไตรโหมดพอดิบพอดี

“พอเราพลิกวิธีการแล้วดีไซน์ก็เป็นไปได้หลายรูปแบบ แต่เราก็มาดูว่าใยตาลมันตอบโจทย์เราหรือเปล่า ข้อดีคือวัตถุดิบนี้จะไม่ขึ้นรา เพราะขั้นตอนกว่าจะเป็นเส้นใยตาลที่ใช้ได้จริงก็จะยากเหมือนกัน เส้นใยตาลมันเลยแข็งแกร่งมาก พวกเราคิดว่าเหมาะกับงานภายนอก เลยเลือกวัสดุที่เหมาะสมกับพื้นที่ด้วย อย่างการเลือกสเตนเลสมาใช้ก็เพราะสงขลาอยู่ใกล้ทะเล ชิ้นงานจะไม่ขึ้นสนิม ทนแดดทนฝน“

“เราอยากให้คนเห็นศักยภาพของใยตาลว่า เหนียว ทนทาน เป็นสปริง เก้าอี้เห็นเหมือนเปลก็ทำให้เข้ากับความเป็นทะเล ซึ่งพัฒนามาจากเก้าอี้ชายหาด และการใช้ใยตาลเหมือนการผสานเก้าอี้เก่ากับเก้าอี้ใหม่เพื่อเพิ่มพื้นที่นั่ง ด้วยความเป็น Street Furniture เราเลยอยากให้มันดู Flexible ที่สุด เราคิดว่าโครงสร้างจะพัฒนาได้ในเรื่องของการนำสิ่งเหล่านี้ไปวางอยู่บนพื้นที่ได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มานั่งเล่นกัน”

“เหมือนกับการต่อยอดของงานดีไซน์เพื่อไปในถึงชุมชนหรือเมือง ถ้าเริ่มจากเก้าอี้ ต่อไปเป็นไม้ แล้วก็กลายเป็นหิน และต่อยอดไปได้อีกหลากหลาย เราอยากให้งานดีไซน์กลมกลืนไปกับเมือง พอเราทำงานในพื้นที่ที่เป็น Public เราเป็นคนนอก เราก็อยากเคารพคนใช้งานในพื้นที่ อย่างการทำในสิ่งที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์ใหม่โดยใช้กระบวนการการดีไซน์เข้าไปจัดการมัน วิธีการคือ เราจะดูว่าสิ่งที่มีอยู่ใช้อะไรได้บ้าง แล้วจะใช้ยังไง เราก็เอาวิธีการนั้นไปนำเสนอและเชื่อมโยงกันว่าจะอยู่กันได้ยังไงกับคนในพื้นที่ และที่สำคัญ งานดีไซน์ของเราจะต้องไม่เป็นภาระต่อคนในเมือง” ทีมไตรโหมดเล่า 

หลังจากงานปักษ์ใต้ดีไซน์วีคนี้ เก้าอี้บางตัวอาจจะยังคงวางไว้ที่ถนนยะหริ่ง ซึ่งเป็นผลงานการดีไซน์ของทีม Trimode

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Na Studio | Trimode | Cloud-Floor และ Sumphat Gallery

_

#PTDW2024 #PakkTaiiDesignWeek #TheSouthsTurn #ถึงทีใต้ได้แรงอก

แชร์