เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2567, 17 –25 AUG

The Making of microWAVE FILM FESTival การรวมคลื่นในหลายมิติที่อยากพาคลื่นลูกใหม่อุ่นร้อนพร้อมเสิร์ฟในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

เผยแพร่เมื่อ 4 เดือนที่แล้ว

The Making of microWAVE FILM FESTival การรวมคลื่นในหลายมิติที่อยากพาคลื่นลูกใหม่อุ่นร้อนพร้อมเสิร์ฟในอุตสาหกรรมภาพยนตร์


ภาพคีย์วิชวลบนแผ่นโบรชัวร์ที่เด่นชัดด้วยฟองคลื่นทาทับบนชายฝั่ง ปรากฏภาพของชายนิรนามเดินย่ำไปข้างหน้าอยู่บนริ้วฟองคลื่น ไอคอนรูปฝักสะตอกระจิริดที่ล้อไปกับเทศกาลหนังเมืองคานส์ได้สุดครีเอต และฟอนต์ภาษาอังกฤษสีเหลืองสะดุดตาที่มีชื่อว่า microWAVE FILM FESTivalคือทั้งหมดของการบ่งบอกถึงเทศกาลรวมคลื่น-หนังเคลื่อน เช่นการอุ่นเครื่องร้อนๆ พร้อมเสิร์ฟหนังให้แก่ผู้ชมจากบรรดาคนรุ่นใหม่ที่แทนภาพด้วย ‘คลื่นทะเล’ แปลได้อีกความหมายคือ ‘คลื่นลูกใหม่’ ที่พร้อมซัดกระทบฝั่ง 


เป้าหมายสำคัญของเทศกาลนี้คือการจูงมือคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียเจ๋งๆ ได้งัดแพสชั่นในการทำหนังเพื่อกรุยทางสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยและเพิ่มทักษะทางอาชีพ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของ แบงค์-ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช, โก้-ชาติชาย ไชยยนต์, เยเมนส์-ศิววุฒิ เสวตานนท์, เต้ย-กษิดิ์เดช มาลีหอม, โรส-พวงสร้อย อักษรสว่าง, เก่ง-จักรวาล นิลธำรงค์ และอิฐ-ปฏิภาณ บุณฑริก กลุ่มคนทำหนังมืออาชีพในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ต่างคุ้นชื่อกันดี 


นั่นเพราะแบงค์-ตัวแทนของทีมบอกไว้ว่า โลกของการทำหนังหมุนไปไกลมาก เด็กรุ่นใหม่หรือคลื่นลูกใหม่จึงมีความสำคัญในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ถ้ามองตามชื่อของเทศกาล การนำคำว่า Wave กับ Microwave มารวมกัน ก็เหมือนเป็นการอุ่นเครื่องบรรดาคลื่นลูกใหม่ในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย


การรวมตัวกันของกลุ่มคนทำหนังในเทศกาลครั้งนี้จึงมีทั้งกิจกรรมฉายหนัง เสวนาแลกเปลี่ยนความคิดของบรรดาคนที่คลุกคลีการทำหนัง การส่งหนังสั้นเข้าประกวดเพื่อการเชื่อมต่อกันของคนทำหนัง ยังมีห้องเรียนอัพสกิลความเป็นมืออาชีพ หรือการแสดงเสมือนจริงนอกจอภาพยนตร์ และการชมเมือง-เที่ยวเมืองในมุมมองของคนทำหนัง ที่ทางเทศกาลพยายามจัดอย่างครอบคลุมเพื่อโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างที่พวกเขาตั้งใจตั้งแต่แรก 


ในเทศกาลรวมคลื่น-หนังเคลื่อนนี้ แบงค์จุดประกายว่า ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับมืออาชีพ จริงๆ แล้วมี Filmmaker ชาวใต้ที่ทำงานในแวดวงคนทำหนังอยู่ไม่น้อย แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ในปักษ์ใต้ยังอยู่ห่างไกลที่จะได้เข้าไปทำงานในวงการทำหนังจริงๆ ทีม Microwave จึงเล็งเห็นช่องว่างตรงนี้ที่พยายามสื่อสารกับน้องๆ ระดับมัธยม รวมถึงระดับมหา’ลัยในการก้าวสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย 

โดยแบงค์ทำงานร่วมกับเยเมนส์ในการสื่อสารให้เด็กรุ่นใหม่เห็นภาพกว้างของวงการหนังไทยว่าไม่ได้มีแค่ผู้กำกับฯ หรือผู้เขียนบทเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่สำหรับทีมทางเทคนิค ทีมกล้อง-ไฟ ทีมโลเกชั่น ทีมผู้ช่วยผู้กำกับฯ ฝ่ายจัดการกองถ่าย ทีมอาร์ต ฯลฯ ซึ่งทุกตำแหน่งหากได้เข้าไปเรียนรู้ ก็จะพาตัวเองไปสู่ตำแหน่งอื่นๆ ได้ อย่างเช่น นักแสดงหนังอิสระที่ไปไกลถึงระดับเมืองคานส์ อย่าง อุ้ม-วัลลภ วงกำจัด ก็ยังเริ่มจากการคลุกคลีอยู่ในทีมอาร์ตหรือทีมพร็อพมาก่อน 


ดังนั้น อาจต้องเริ่มจากพาตัวเองเข้าไปสู่วงการหนังให้ได้ ซึ่ง microWAVE อาจเป็นการจุดประกายแรกให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใกล้วงการทำหนังได้ง่ายขึ้น รวมถึงให้พวกเขาได้เห็นหนังสั้นจากนักทำหนังรุ่นก่อนหน้าทั่วประเทศ ก็จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้มีแรงอยากทำหนังมากยิ่งขึ้น (เพราะที่ผ่านมาเมื่อพวกเขาได้ดูแค่หนังระดับอาชีพ หรือหนังที่ประสบความสำเร็จไปแล้วจะรู้สึกว่าไกลเกินความสามารถของตัวเอง) 

“แต่อย่างที่บอกว่าเรามองเรื่อง ‘คลื่น’ ในหลายมิติ แน่นอนว่าการรวมคลื่นที่หมายถึงเจนเนอเรชั่นเป็นเป้าหมายแรกๆ ของเรา เรารู้สึกว่า คนทำหนังไทยต่อเจนกันไม่ติด การพาคนทำหนังรุ่นใหม่มาเจอรุ่นพวกเราจึงเป็นเป้าหมายแรก แต่พอทำไปแล้วก็เจอคลื่นจิ๋วในโลคัลที่สนใจมาร่วมจอย และรุ่นกลางๆ อย่างพวกที่ช่วยเชื่อมให้ทุกอย่างคอนเน็กชั่นกันก็ทำให้เราเห็นภาพที่กว้างขึ้น”


“แต่คำว่าไมโครเวฟ เราคิดกันเล่นๆ ในบทสนทนาของเด็กรุ่นใหม่ที่ทำหนังกันว่า เราอยากพาหนังสั้นธีสิสไปอุ่นร้อนในไมโครเวฟแล้วพร้อมเสิร์ฟต่อไป เหมือนเป็นการได้อุ่นเครื่องหนังสั้นอยู่ตลอดเวลาโดยที่หนังสั้นไม่ต้องแน่นิ่งอยู่กับที่” แบงค์อธิบาย

หนังสั้น หรือ Short Film ว่ากันว่ามีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์อยู่ไม่น้อย ซึ่งในปีๆ หนึ่งจะมีหนังสั้นธีสิสของนิสิตหลายร้อยเรื่อง แต่เมื่อส่งงานเสร็จแล้วจัดฉายดูกันเองแล้วทุกอย่างจบ ทำให้ทีมงานไมโครเวฟมองเห็นช่องโหว่นี้และรู้สึกเสียดาย เลยนำสิ่งเหล่านี้มาคิดต่อยอดว่าจะทำยังไงให้หนังสั้นของเหล่า Young Filmmaker ให้ได้ตีตั๋วไปต่อในวงการ 

“หนังสั้นเป็นโปรไฟล์ที่ทำให้คนได้เห็นศักยภาพของเจ้าของหนังได้อย่างชัดเจน ซึ่งมักจะถูกสร้างขึ้นมาด้วยแพสชั่นล้วนๆ เพราะจริงๆ แล้ว โปรดิวเซอร์หรือผู้ใหญ่ในวงการทำหนังจะมองศักยภาพของนักทำหนังรุ่นใหม่ผ่านหนังสั้นธีสิสเหล่านี้เลย”

“อีกแง่มุมที่น่าสนใจมากๆ คือเทรนด์ของหนังสั้นแต่ละปีจะถูกบันทึกไว้ผ่านหนังของนิสิตในแต่ละรุ่น แน่นอนว่า การตามดูหนังสั้นที่ถูกคัดเลือกจะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในแง่ความสนใจของเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะก้าวขึ้นสู่ระดับอาชีพ” แบงค์เล่า





อย่างไรก็ตาม วงการหนังอิสระ หนังสั้น หนังอาร์ต อาจจะไม่ได้จบอยู่แค่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่แบงค์กลับคิดว่า คนรักในการทำหนังควรเปิดใจให้กว้าง และเลิกแบ่งแยกประเภทของหนัง เพราะหนังทุกประเภทมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน เพียงแค่ต้องทำความเข้าใจและยอมรับด้วยกันเอง 

“ผมได้เห็นบทสนทนาระหว่างคนทำหนังอิสระ และหนังในรูปแบบเมนสตรีมที่แลกเปลี่ยนอินสไปร์กันเอง เช่น พี่โต้ง-บรรจง หรือพี่เก่ง-จักรวาล แม้กระทั่งหนังแมสหรือหนังแมสต่างค่าย เมื่อคุยกันแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ อีกอย่าง ต้องเต ผู้กำกับเรื่องสัปเหร่อ ก็ยังนั่งคุยเรื่องบทกับ พัฒน์ ผู้กำกับเรื่องหลานม่า ที่ต่างคนต่างเคารพและแลกเปลี่ยนกันแบบคนทำงานศิลปะ ผมมองว่าคงเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจทำให้หนังไทยแข็งแรงและเลิกแบ่งแยกกัน”


“เช่นเดียวกับกลุ่มคนดูหนัง บางคนชอบหนังในเชิงศิลปะมักด้อยค่าหนังเมนสตรีม แต่ ในทางกลับกัน คนที่อยู่สายหนังแมสก็มักมองว่าหนังเชิงศิลปะไม่มีค่าและดูน่าเบื่อ สุดท้ายเมื่อเปิดใจและลองดูอาจทำให้เปลี่ยนมุมมองก็ได้” แบงค์ออกความเห็น  

แบงค์เสริมว่า กลุ่มคนทำหนังรุ่นใหม่ที่ฝันอยากเป็นผู้กำกับ อย่างแรกเลยคือ ต้องชอบเล่าเรื่อง และมีเรื่องที่อยากจะเล่า ถ้ายังไม่เริ่มต้นจากตรงนี้คิดว่าน่าจะไปต่อได้ยาก ส่วนคนที่อยากทำงานในวงการหนัง ก็ต้องเริ่มจากการชอบดูหนัง และสนุกสนานเมื่อได้เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นคนทำหนังด้วย  

“ตอนนี้โลกของการทำหนังมันหมุนไปเร็วมาก คนดูหนังก็เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเร็วมากๆ ถัาเราไม่เริ่มพาคลื่นลูกใหม่เข้าวงการ คิดว่าวงการหนังไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ยากกว่าประเทศที่เขาเป็นสหภาพทางด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์จริงๆ” แบงค์ทิ้งท้าย 

 

_

#PTDW2024 #PakkTaiiDesignWeek #TheSouthsTurn #ถึงทีใต้ได้แรงอก

แชร์