เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2567, 17 –25 AUG

The Making of Festival Vibe : Catalyst The Bliss

เผยแพร่เมื่อ 4 เดือนที่แล้ว

Festival Vibe : Catalyst The Bliss เมื่อดนตรีและศิลปะการแสดงเปรียบเหมือนสารเคมี ที่เป็นตัวตั้งต้นให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้ปักษ์ใต้

Pakk Taii Design Week ได้ร่วมมือกับ CAPT สมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และ มูลนิธิประยูรเพื่อศิลปะ Prayoon for Art Foundation ร่วมกับ Don iPlayAlone ศิลปิน Jazz ที่โดดเด่นในการสร้างสรรค์ประสบการณ์ทางดนตรีในการดีไซน์ศิลปะการแสดง (Performing & Show) ภายใต้แนวคิดหลัก “City as a Living Theatre” ออกมาเป็นชุดการแสดงภายใต้แนวคิด “Catalyst The Bliss” การใช้​​ดนตรีและการแสดงที่เปรียบเหมือนสารเคมีหรือตัวเร่งปฏิกิริยา ใช้การแสดง ที่ดึงเอาร้ากเหง้าความเป็นปักษ์ใต้มาเล่าใหม่ ดีไซน์ใหม่ให้เกิดความน่าสนใจ และเป็นตัวเร่งให้เกิดศิลปินหน้าใหม่ในพื้นที่เพิ่มขึ้น


คุณเวลา อมตะธรรมชาติ ตัวแทนจากสมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และ มูลนิธิประยูรเพื่อศิลปะ Prayoon for Art Foundation บอกว่า “เวลาเราลงไปทำงานกับศิลปินท้องถิ่น เรามักจะเห็นศิลปินหน้าตาเหมือนเดิม กลุ่มคนเดิม ศิลปะแบบเดิม เช่น ถ้ามาภาคใต้ ก็มักจะนึกถึงมโนราห์เสมอ นักสร้างสรรค์กลุ่มเดิมจะถูกใช้งานบ่อยๆ โจทย์ของเราก็คือว่า ทำอย่างไรให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นบ้าง จึงเปิดเป็นพื้นที่ได้การทดลองทำการแสดงศิลปะในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เราไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำมันจะเวิร์คไหม เราต้องทดลองเกิดเป็น 4 การแสดงสุดพิเศษ เพื่อพาปักษ์ใต้ดีไซน์วีคไปเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน


ลมหกทิศ โดย ป๋อง ดร.ชุมชน สืบวงศ์ ศิลปิน Jazz และแอน มณีรัตน์ สิงหนาท ศิลปิน Percussion

การแสดงชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากองค์ความรู้ของคนปากพนัง ที่ว่าภาคใต้เป็นแหล่งศูนย์รวมของลม 6 ทิศ มารวมกันเป็นวัฒนธรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมจากจีน หรือเป็นวัฒนธรรมจากอาหรับ โชว์นี้จึงต้องการเป็นโชว์เปิดงานที่จะพูดถึงความหลากหลาย “ภาคใต้ไม่ใช่แค่ที่ของคนใต้ แต่เป็นที่ที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย” ในโชว์นี้ดนตรีจากหลากหลายวัฒนธรรมจะถูกนำมาทดลองบรรเลงร่วมกัน เป็น Music Performance มา Battle กันผ่านโจทย์เรื่อง ลมหกทิศ โดยที่นักดนตรีแต่ละคนบนเวทีจะไม่ทราบว่าลมแต่ละทิศอื่นนั้นเป็นอย่างไร โชว์นี้จึงใช้ความสามารถของนักดนตรีว่าจะต้องทำอย่างไรให้ทุกอย่างสามารถสอดประสานไปด้วยกันได้ การแสดงครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการ Battle ของเสียงดนตรี ที่แต่ละทิศทางจะนำพลังและความแปลกใหม่มาบรรจบกัน สร้างความอิ่มเอมและเร่งปฏิกิริยาแห่งความสุขให้กับผู้ชมได้สัมผัสอย่างลึกซึ้งสำหรับการเป็นโชว์เพื่อเปิดเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้

Enter the Void โดย ครูเพลง กฤตนน รักนุ่น และ แฮม ฐาณิศร์ สินธารัตนะ สองศิลปิน Jazz Experimental

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน Paktaii Design Week ปีนี้ คือการแสดงดนตรีที่นำเอาดนตรีและศิลปะการแสดงพิธีกรรมโนราห์โรงครู ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงที่มีความศักดิ์สิทธิ์และยึดโยงกับบรรพบุรุษของชาวใต้ มาปรับให้เข้ากับแนวดนตรี Jazz สมัยใหม่ โดยการแสดงนี้เกิดจากคนที่เติบโตในครอบครัวของครูโนราห์ ที่ต้องการสืบทอดพิธีกรรมแบบนี้ให้ยังคงอยู่ต่อไป แต่เดิมพิธีกรรมโนราห์โรงครูคือการเชื่อมโยงระหว่างลูกหลานและบรรพบุรุษ การแสดงชุดนี้จึงทำให้คนดูรู้สึกเชื่อมโยงไปถึงบรรพบุรุษ หรือคนที่มีความหมายกับเราในรูปแบบที่ร่วมสมัย การเชื่อมโยงกับบรรพบุรุษผ่านดนตรีมโนราห์โรงครูในครั้งนี้ ถือเป็นการเคารพและสืบสานวัฒนธรรมที่ล้ำลึกของชาวใต้ ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสกับรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่อาจเคยรู้สึกว่าห่างไกลจากชีวิตประจำวันของพวกเขา การปรับเปลี่ยนดนตรีพิธีกรรมมโนราห์โรงครูให้อยู่ในรูปแบบของดนตรี Jazz ไม่ได้ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์และความหมายดั้งเดิมของดนตรีนี้สูญหายไป แต่กลับเป็นการเพิ่มมิติใหม่ในการรับรู้และเข้าใจ เสียงดนตรีที่ผสานกันนี้ทำให้ผู้ฟังได้สัมผัสถึงความงามและความซับซ้อนของวัฒนธรรมภาคใต้ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องราวของอดีต แต่ยังเป็นสะพานที่เชื่อมโยงระหว่างคนรุ่นใหม่และบรรพบุรุษของพวกเขา การแสดงนี้ไม่เพียงแต่เป็นการทดลองทางดนตรี แต่ยังเป็นการส่งต่อเรื่องราวและความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ในพิธีกรรมผ่านเสียงดนตรีและการนำเสนอที่ร่วมสมัยอีกด้วย

รองเง็งสนทนา วงน้ำชาจากอันดามันสู่อ่าวไทย โดย “รองเง็ง’อัสรีมาลา” (สงขลา) “รองเง็งสวนกวี” (กระบี่) และ “รองเง็งคณะพรสวรรค์” (ชาวเล)

หากพูดถึงการแสดงที่เชื่อมโยงกับภาคใต้ “รองเง็ง” ก็อาจจะเป็นสิ่งแรกๆ ที่คนนึกถึง ด้วยท่วงทำนอง ความสนุกสนานมีชีวิตชีชา แต่ในความเป็นจริงเราอาจจะไม่ค่อยได้รู้ที่มา ที่ไปของรองเง็งอย่าลึกซึ้ง ว่าแท้จริงแล้วการแสดงรองเง็งมีหลายรูปแบบต่างกันในแต่ละพื้นที่ ในครั้งนี้จึงหยิบเอาการแสดงรองเง็งมาเล่าใหม่ ในรูปแบบของ “รองเง็งสนทนา” โดยเวทีจะถูกเปลี่ยน Setup กลายเป็นวงน้ำชา ที่จะชวนคนดูไปพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงที่มาของรองเง็งและพาไปรู้จักรองเง็งมากขึ้น ผ่านรองเง็งที่มาจากต่างพื้นที่ อย่างรองเง็งอัสรีมาลา จากจังหวัดสงขลา รองเง็งสวนกวี จากจังหวัดกระบี่ และรองเง็งคณะพรสวรรค์ ที่เป็นรองเง็งแบบชาวเล จะถูกนำเสนอในรูปแบบที่ยังคงเอกลักษณ์ แต่เสริมด้วยเรื่องราวและการสนทนาที่ลึกซึ้ง ทำให้ผู้ชมได้เข้าใจและซึมซับถึงความงดงามและความหลากหลายของรองเง็งมากยิ่งขึ้น “รองเง็งสนทนา” จึงเป็นเวทีที่สร้างความเข้าใจและเชื่อมโยงผู้ชมเข้ากับวัฒนธรรมพื้นถิ่น ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรื่องราวที่ถูกสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมภาคใต้ในมุมมองที่สดใหม่และร่วมสมัย

ใต้ภวังค์ Veiled Coastal Dreams: Ecstatic Slumbers โดย ไซอิ๋ว Zonzon.ztudio Media Artist และ Filmmaker 

การแสดงชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความงาม ความโรแมนติกของเมืองสงขลา จากปากของคนเฒ่าคนแก่ในเมืองสงขลาว่า นี่คือเมืองที่ไม่เคยหลับไหล เมืองที่ส่องสว่างอยู่ตลอดเวลา แต่ทว่า ในปัจจุบัน ผู้คนรุ่นใหม่หรือผู้มาเยือนเมืองสงขลาอาจไม่สามารถสัมผัสถึงมิติเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน จึงอาจจะกล่าวได้ว่า เมืองสงขลาที่ครั้งหนึ่งเคยเปล่งประกาย ตอนนี้อาจกำลังอยู่ในภาวะหลับใหล การแสดงนี้จึงมีเป้าหมายที่จะพาผู้ชมดำดิ่งลงไปในภวังค์ของเมืองสงขลา ผ่านการใช้ดนตรีแนว Ambient ที่ผสานกับศิลปินด้าน Media Artist เพื่อสร้างสรรค์ “Sound Ambient” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของภวังค์และความฝันของเมืองสงขลา ร่วมกับงานภาพที่ถูกนำเสนอเป็นลักษณะของ Abstraction หรือนามธรรม สะท้อนความงดงามและความลึกลับของเมืองที่กำลังฝันอยู่การแสดง “ใต้ภวังค์” นี้ไม่ใช่เพียงแค่การบรรเลงดนตรีพร้อมกับการฉายวิดีโอโปรเจ็กชันประกอบภาพ แต่เป็นการแสดงแนว Improvisation ที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างดนตรีและภาพ ที่สื่อถึงจิตวิญญาณของแดนใต้ที่อาจกำลังหลับใหล และกำลังฝันถึงสิ่งใด การแสดงนี้จึงเป็นบทสรุปที่งดงามของเทศกาลปักษ์ใต้ดีไซน์วีคในปีนี้

“สุดท้ายแล้วสิ่งที่ Catalyst The Bliss พยายามจะนำเสนอก็คือ ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของงานศิลปะการแสดงในภาคใต้ ต้องการทดลองให้คนใต้ ศิลปินใต้ ได้เห็นโอกาส ความเป็นไปได้ในรูปแบบใหม่ๆ ว่าเมื่อเป็นงานภาคใต้ ไม่จำเป็นต้องใต้เข้มข้นตลอดเวลา แต่เราสามารถที่จะหยิบเอาความเป็นใต้มาเป็นส่วนหนึ่งจะผสมผสานกับดนตรีอื่นได้ ทั้ง 4 การแสดงนี้จึงเปรียบเสมือนการเปิดบทสนทนาให้กับศิลปะของภาคใต้ เราไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำไปแล้วมันจะดีหรือออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดกับศิลปะการแสดงของภาคใต้ได้มากแค่ไหน แต่เราต้องทดลอง” คุณเวลา ตัวแทนจาก CAPT สมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และ มูลนิธิประยูรเพื่อศิลปะ Prayoon for Art Foundation กล่าวทิ้งท้าย

_

#PTDW2024 #PakkTaiiDesignWeek #TheSouthsTurn #ถึงทีใต้ได้แรงอก


แชร์