The Making of Samila Odyssey นิทรรศการสมิหลาเชิงซ้อน
เผยแพร่เมื่อ 4 เดือนที่แล้ว
สำรวจกาลเวลาไปกับนิทรรศการ Samila Odyssey ตำนานภาพถ่ายเชิงซ้อนของ ‘โกขาว’ และองคาพยพในเมืองสงขลา
ความจริงแล้ว นิทรรศการสมิหลาเชิงซ้อน (Samila Odyssey) มีจุดเริ่มต้นและจุดจบบนชายหาดสมิหลาที่มีนางเงือกเป็นจุดแลนด์มาร์กซึ่ง ‘ชายหาดสมิหลา’ คือพระเอกตัวยงในนิทรรศการสมิหลาเชิงซ้อน ด้วยการหยิบยกประวัติศาสตร์ของ ‘ภาพซ้อนหรือภาพศิลป์ (Combination Printing) ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงปี พ.ศ. 2500 ในสมัยที่ ‘โกขาว–สวัสดิ์ เชิญสวัสดิ์’ เจ้าของร้านถ่ายรูปไทยศิลป์ (ร้านถ่ายรูปทันใจ) แห่งแรกในไทย ได้ทำธุรกิจถ่ายรูปให้นักท่องเที่ยวบนชายหาดสมิหลาเก็บไว้เป็นที่ระลึก อาจพูดกลายๆ ได้ว่านิทรรศการนี้เสมือนการผจญภัยกลับสู่อดีตของโกขาว–ช่างภาพในยุครุ่งเรืองของร้านถ่ายรูปทันใจ นอกจากผลงานและประวัติของโกขาวที่ถูกเล่าผ่านงานภาพถ่ายในนิทรรศการสมิหลาเชิงซ้อน ยังมีเรื่องราวที่ต่อยอดไปสู่องคาพยพในสงขลา ที่ออกแบบนิทรรศการและคิวเรตโดย ‘โต้–วิรุนันท์ ชิตเดชะ’ ช่างภาพมือรางวัลระดับเมืองคานส์ ควบการเป็นอาจารย์สอนคณะสถาปัตย์ที่ลาดกระบัง หนึ่งในผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนการถ่ายภาพอย่าง ‘โรงเรียนสังเคราะห์แสง’ หรือบรรณาธิการทำสื่อนิตยสารออนไลน์ชื่อว่า ‘D1839’ ที่นำเสนอเกี่ยวกับแวดวงการถ่ายภาพในไทย และเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์แบรนด์กล้องถ่ายรูปอย่าง Leica ทีแรกโต้ถูกชักชวนจาก ‘เอ๋–ปกรณ์ รุจิระวิไล’ เพราะเอ๋สนใจในลักษณะของภาพถ่ายเชิงซ้อน (อย่างที่เห็นก็คือคนเหาะเหินเดินอากาศ บ้างก็เป็นรูปคนย่อส่วนอยู่ในขวดโหลแก้ว) เอ๋เลยชักชวนโต้มาร่วมจัดนิทรรศการภาพถ่ายเชิงซ้อนในงาน Pakk Taii Design Week ในปีนี้ รวมถึงทีมอาจารย์ไพลิน ถาวรวิจิตร และอาจารย์อาทิตยา นิตย์โชติ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ‘น้าชำ’ หรือ ‘ชำนิ ทิพย์มณี’ ของน้องๆ ในวงการถ่ายภาพในเมืองไทย ด้วยการผจญภัยไปสู่อดีตที่เล่าเรื่องผ่าน ‘กาลเวลา’ จากปัจจุบัน กลับไปหาอดีต และผจญภัยไปสู่อนาคต การเลือก ‘สถานที่’ ต้องแวดล้อมให้เกี่ยวพันในยุคอดีตเสียส่วนใหญ่ด้วย นิทรรศการนี้จึงยกมาจัดแสดงในโรงเรียนสตรีวชิรานุกูล บนถนนรามัญในย่านเมืองเก่าสงขลา ภายในห้องเรียน 7 ห้อง รวมทั้งหมด 7 ผลงาน ซึ่งโต้บอกว่า นิทรรศการที่จัดแสดงในโรงเรียนเปรียบเสมือนตัวเขาได้เข้าไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และอยากให้คนทั่วไปได้เรียนรู้และเพลิดเพลินเหมือนกันกับเขา
‘โกขาว’ ผู้บุกเบิกการถ่ายภาพซ้อนแห่งแรกในไทย
“จะว่าไป จุดประสงค์หลักของงานคือการเชิดชูโกขาวให้เป็นที่รู้จัก ว่าจริงๆ แล้วจากภาพถ่ายธรรมดาๆ จนนำไปสู่อีกเทคนิคหนึ่งนำไปต่อยอด สร้างผลงาน และบอกเล่าประวัติศาสตร์ได้” นั่นคือคำสรุปรวบย่อของโต้ที่เขาเสริมอีกว่า ภาพถ่ายเชิงซ้อนมีความมหัศจรรย์และครีเอทีฟในตัวเอง แต่ก็ยังมีคนพูดถึงกันน้อยมาก ซึ่งโกขาวคือผู้บุกเบิกผลงานภาพถ่ายเชิงซ้อนระดับมาสเตอร์พีซของเมืองไทย เขาว่าอย่างนั้น
พูดถึง ‘โกขาว’ เดิมเป็นชาวกรุงเทพฯ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2469 ครอบครัวโกขาวเป็นคนจีนที่อพยพมาปักหลักในไทย เมื่อก่อนทำอาชีพรับผ้าจากพาหุรัดไปเร่ขายตามต่างหวัด จนเมื่อปี พ.ศ. 2492 โกขาวเดินทางมายังหาดสมิหลาแล้วเห็นช่องทางทำธุรกิจรับถ่ายรูปเป็นที่ระลึก เพราะเห็นนักท่องเที่ยวเยอะ เลยตัดสินใจกลับไปเรียนถ่ายรูปที่กรุงเทพฯ สองปีต่อมาโกขาวได้เปิดร้านถ่ายรูปสมใจชื่อว่า ‘ไทยศิลป์’ ร้านแรกในไทยบนชายหาดสมิหลา ช่วงนั้นถือเป็นยุคทองทางประวัติศาสตร์ภาพถ่ายของเมืองไทย แม้กระทั่งนักเขียนฉายาพญาอินทรีย์อย่าง ‘รงค์ วงษ์สวรรค์’ ก็เป็นช่างภาพในยุคเดียวกับโกขาว ที่ถ่ายภาพผลงานชุด ‘สะพานพุทธฯ’ ไว้ด้วย
ส่วนเทคนิคการถ่ายภาพซ้อน ที่เน้นการเหาะเหินเดินอากาศ ว่ากันว่าได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์บอลลีวู้ดทางฝั่งอินเดีย ซึ่งภาพถ่ายซ้อนยอดนิยมจะต้องถ่ายคนด้วยกล้องฟิล์มให้อยู่ในโหลแก้ว โดยการถ่ายคนกับพื้นหลังโปร่งใส เช่น ท้องฟ้า แล้วถ่ายภาพคนถือโหลแก้ว โดยต้องเลือกอัดภาพคนถือโหลแก้วก่อนและต้องมาร์กจุดโหลแก้วให้แม่น เพื่อจะได้อัดภาพคนย่อส่วนให้เข้าไปอยู่ในโหลแก้วพอดี จากนั้นพนักงานประจำห้องมืดล้างภาพฟิล์มด้วยน้ำยา ต่อด้วยล้างน้ำเปล่าขั้นตอนสุดท้าย ทั้งหมดนี้เสร็จสิ้นในเวลาราวๆ 30 นาที สมกับชื่อร้านถ่ายรูปทันใจ
เทคนิคการถ่ายภาพเชิงซ้อนที่ดูมีลูกเล่นพิเศษนี้ทำให้ลูกจ้างที่เคยทำงานกับโกขาวทยอยออกไปตั้งกิจการของตัวเอง อย่างช่างภาพเจริญ อักโขมี ร้านแหลมหินโฟโต้ ช่างภาพสมชาย เนี่ยวตระกูล หรือลุงวี ช่างภาพพร้อมรถตู้คู่ใจแถวพระปฐมเจดีย์ ที่นครปฐม จนช่วงปี พ.ศ. 2520 กิจการร้านถ่ายรูปทันใจพากันปิดตัว หลังจากอุตสาหกรรมภาพถ่ายมีการใช้ฟิล์มสีมากขึ้นและการเข้ามาของเทคโนโลยีกล้องถ่ายรูปแบบพกพา แต่ปัจจุบันศิษย์ของโกขาวยังเปิดกิจการร้านไทยศิลป์อยู่ที่บางแสนและเมืองพัทยา ส่วนร้านแหลมหินโฟโต้ยังคงเป็นร้านถ่ายรูปทันใจที่หลงเหลืออยู่แห่งเดียวในจังหวัดสงขลา
บันทึกเวลา ณ ปัจจุบัน
ในนิทรรศการสมิหลาเชิงซ้อน โต้บอกว่า คอนเซปต์ของงานคือคำว่า ‘เชิงซ้อน’ อย่างการซ้อนกันในแง่เทคนิค มิติทางวัฒนธรรม และมุมมองผ่านสายตาช่างภาพที่ได้ช่างภาพอย่าง น้าชำ มาร่วมจัดแสดงงานในครั้งนี้ ระนาบที่หนึ่งในยุคปัจจุบัน โต้คิดไอเดียอยากที่จะเล่าเรื่องสงขลาซึ่งเป็นจุดแลนด์มาร์ก ก็คือชายหาดสมิหลา โดยนำแนวคิดการนำเสนอภาพแนวร่วมสมัยทั้งเทคนิคภาพถ่ายเชิงซ้อนในยุคก่อน และเทคนิคของภาพมอนทาจ (Montage) ด้วยการครีเอตร่วมกับซอฟต์แวร์ในคอมพิวเตอร์ให้ออกมาแฟนตาซีแบบเซอร์เรียล ผ่านการเก็บบันทึกความทรงจำของทั้งโกขาว ที่ชายหาดสมิหลา และเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นต่อยอดไปรอบๆ จังหวัดสงขลา อย่างตึกหรือยานพาหนะ เช่นตึกฟักทอง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตึกในเมืองเก่าสงขลา รถถีบสามล้อลุงแจ้ว ซึ่งปรากฏในปี 1957 (พ.ศ. 2500) ให้คนเข้าชมได้ปฏิสัมพันธ์กับงาน ถัดมาตรงหน้าในระนาบเดียวกันเป็นการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายด้วยกล้องฟิล์มใช้แล้วทิ้ง จากอาสาสมัครคนสงขลาจำนวน 9 คน แบ่งเป็นเจน X Y และ Z ที่พรีเซนต์มุมมองของคนทั้งสามช่วงวัยผ่านพื้นที่ เช่น ย่านเมืองเก่า หาดสมิหลา และสิงหนคร เมื่อเรียงต่อกันทั้ง 3 เจน 3 โลเกชั่น โดยถ่ายคนละ 3 ภาพ รวมกันทั้งหมด 9 คน และอีก 3 เจน จะได้รูปภาพจำนวน 27 รูปเท่ากับในกล้องฟิล์มพอดี แล้วนำรูปภาพทั้งหมดสกรีนลงบนผ้าผืนยาวสีขาวที่พัดพลิ้วไหวอยู่ใต้อาคารเรียน
จุดระนาบสุดท้ายเป็นการเล่าเรื่องยุคปัจจุบัน คือการเล่าถึงความทรงจำของ ‘น้าชำ’ ที่มีต่อพื้นที่บ้านเกิดในสงขลา ด้วยผลงานชื่อ ‘Then & Now’ เป็นภาพถ่ายที่บันทึกวิถีชีวิตของผู้คนและระบบนิเวศน์บริเวณชายหาดสงขลาไปจนถึงหาดชลาทัศน์และเก้าเส้งผ่านมุมมองช่างภาพระดับตำนาน
ทบทวนเหตุการณ์และเวลาในอดีต
จากยุคปัจจุบันเดินทางย้อนสู่อดีตกาลใน 3 ห้องเรียน ด้วยเรื่องเล่าของการกำเนิดภาพถ่ายเชิงซ้อนควบคู่กับเกร็ดประวัติศาสตร์ ผ่านการจัดแสดงภาพถ่ายเชิงซ้อนของจริง ที่เอื้อเฟื้อภาพโดย ครูจรัส จันทร์พรหมรัตน์ ครูโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา และภาพฟิล์มเก่าของลุงเจริญ เจ้าของร้านแหลมหินโฟโต้ ในห้องนี้จะเชื่อมโยงเรื่องราวเดียวกับห้องด้านหน้าซึ่งจัดแสดงงาน Installation Art ด้วยการนำภาพถ่ายเชิงซ้อนอัดลงแผ่นอะครีลิก แล้วติดตั้งผลงานเป็นรูปวงกลม ทำให้เกิดวิชวลทางสายตาเมื่อเดินวนรอบๆ ส่วนในห้องสุดท้ายเป็นงานวิดีโอเชิงทดลองที่เล่าถึงเวลาและเหตุการณ์ที่ปรากฏบนชายหาดสมิหลาบริเวณรูปปั้นนางเงือก
สิ่งที่ยื้อความเป็นอดีตและดูแหวกทางกว่างานชิ้นอื่นๆ คืองานวิดีโอเชิงทดลอง ที่บันทึก ‘เหตุการณ์’ และ ‘เวลา’ บนชายหาดสมิหลา ซึ่งโต้บอกว่า งานวิดีโอเชิงทดลองชิ้นนี้เป็นการพูดถึงเวลาในอีกมิติหนึ่ง ด้วยการบันทึกวิดีโอเป็นภาพเคลื่อนไหว ซึ่งเวลาที่ถูกบันทึกจะตรงกับชั่วขณะเวลาปัจจุบันที่เรากำลังมองผ่านวิดีโอ ที่สำคัญ การตั้งกล้องบันทึกวิดีโอผ่านวิวบริเวณรูปปั้นนางเงือกคือจุดไฮไลต์ที่โกขาวเคยถ่ายภาพนักท่องเที่ยวอีกด้วย
ตั้งคำถามถึงอนาคตด้วยมนุษย์และ AI
เมื่อพูดถึงอนาคต มักจะเป็นเรื่องที่มนุษย์คาดเดาไม่ได้ แต่มนุษย์เตรียมที่จะวางแผนหรือรับมือได้ ในนิทรรศการเชิงซ้อนก็พูดถึงปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สิ่งประดิษฐ์เหนือกาลเวลา ซึ่งโต้บอกว่า ในยุคนี้การทำงานในรูปแบบ AI มีผลกับคนทำงานทางด้านวิชวล โดยเฉพาะงานภาพถ่ายค่อนข้างมาก เขาจึงเชิญทีม PSUIC (Prince of Songkla University International College) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อย่างอาจารย์ไพลิน ถาวรวิจิตร และอาจารย์อาทิตยา นิตย์โชติ ที่ทั้งคู่เชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบกราฟิกดีไซน์ การทำแอนิเมชั่น และเชี่ยวชาญทางด้าน AI
การเล่าเรื่องราวถึงอนาคต ได้นำเทคโนโลยี AI หรือภาพถ่ายจากนวัตกรรม AI เข้ามาเพิ่มมิติของงานภาพถ่ายซึ่งมีผลกับคนทำงานด้านวิชวลทางภาพถ่ายในยุคสมัยนี้ รวมๆ คือเริ่มจากการสอบถามคนในชุมชนถึง ‘ปัญหา’ ที่พบเจอในย่านเมืองเก่าและบริเวณชายหาด รวมถึงสิ่งที่ ‘ใฝ่ฝันอยากเห็น’ ในย่านเมืองเก่าและชายหาดในอนาคต ซึ่งคำตอบที่ได้ออกมากลายเป็นภาพ AI แทนความรู้สึกของคนในชุมชน บ้างก็เป็นรูปนางเงือกที่มีบุคลิกแปลกใหม่ บ้างก็เป็นสภาพแวดล้อมจากชายหาดและย่านเมืองเก่าที่หลุดออกจากกรอบเดิม
“ส่วนผมกับอาจารย์ไพลินเดินเก็บภาพถ่ายขยะจากชายหาดสมิหลาสงขลา เป็นงานศิลปะจัดวางที่สร้างสรรค์เรื่องราวขึ้น โดยอาจารย์ไพลินออกแบบกราฟิกจากภาพถ่ายขยะด้วยแนวคิดของศิลปินในการทำงานด้านศิลปะ แล้วนำชิ้นงานไปสแกนกับเทคโนโลยี AI ว่ามีความเห็นคิดตรงกับศิลปินหรือไม่ น่าแปลกใจตรงที่บางชิ้นงาน ‘AI’ มีความคิดเห็นตรงกับ ‘มนุษย์’ อย่างมาก ซึ่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สื่อสารความคิดได้ตรงจุดมากๆ” โต้อธิบาย
อย่างที่โต้บอก ว่าการเข้ามาของ AI ในยุคปัจจุบันมีส่วนสำคัญต่อการทำงานด้านวิชวลของงานภาพถ่ายไม่น้อย เพราะมีผลให้ทำงานง่ายขึ้น และลดทอนเวลาการทำงานลง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เทคนิคการถ่ายภาพเชิงซ้อนในอดีตที่โกขาวเป็นผู้บุกเบิกจนเป็นที่นิยมให้เปิดกิจการร้านถ่ายรูปทันใจตามต่อกันเป็นทอดๆ แท้จริง ‘จุดกำเนิด’ และ ‘จุดสิ้นสุด’ ของเรื่องราวทอดยาวแน่นิ่งอยู่ตรงนั้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: วิรุนันท์ ชิตเดชะ
_
#PTDW2024 #PakkTaiiDesignWeek #TheSouthsTurn #ถึงทีใต้ได้แรงอก