เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2567, 17 –25 AUG

The Making of ลอง-นั่ง-แล Mobella x Sarnsard

เผยแพร่เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว

The Making of ลอง-นั่ง-แล Mobella x Sarnsard : เมื่อภูมิปัญญาท้องถิ่นกว่า 15 ชนิด ถูกหยิบมาสื่อสารผ่านงานเฟอร์นิเจอร์

เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของงาน Pakk Taii Design Week คือการนำเสนอภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มีความร่วมสมัย และจับต้องได้ ครั้งนี้ปักษ์ใต้ดีไซน์วีค มีโอกาสได้ร่วมงานกับ 2 แบรนด์ที่มีจุดเด่นเรื่องการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกระดับให้ทันสมัยเข้ากับไลฟ์สไตล์ปัจจุบันนั่นคือ Mobella และ Sarnsard

ในปีนี้ทั้ง 2 แบรนด์เลือกใช้วัสดุที่หาได้จากท้องถิ่นกว่า 15 ชนิดมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ได้แก่ เชือกกล้วยจากกอร์ตานี ผลิตภัณฑ์เชือกกล้วย จ.สงขลา หนังตะลุงจากกลุ่มอาชีพผลิตแกะหนังตะลุงกลุ่มรักษ์คอน จ.นครศรีธรรมราช หางอวนจากกลุ่มผลิตภัณฑ์หางอวนบ้านหน้าทับ จ.นครศรีธรรมราช ใบเตยปาหนันจาก Sansard และ คราฟท์ เดอะ ฟิวเจอร์ จ.ตรัง ลูกปัดมโนราห์จากลุ่มลูกปัดมโนราห์นาโยง ผ้าบาติกจาก Batik de Nara จ.ปัตตานี กะลามะพร้าวจาก GRAND GALA จ.พัทลุง กระจูดจาก Varni Craft จ.พัทลุง ผ้าบาติกสีธรรมชาติจากกลุ่มมัดย้อมผ้าสีธรรมชาติบ้านคีรีวง ผ้าทอซาโอริจากวิสาหกิจชุมชนผ้าซาโอริ จ.พังงา ผ้าเปอลางีจาก Adel Kraft จ.ยะลา ยางพารารีไซเคิลจาก PlanToys จ.ตรัง บาติกข้าวจาก InnoYa Batik จ.นครศรีธรรมราช เปลือกไข่จากอุตสาหกรรมไข่เค็มจากบริษัท ไซไนต์ อินโนเวทีฟ เซอร์เฟสเซส จำกัด จ.สุราษฏร์ธานี เส้นยางพาราจากวิสาหกิจชุมชนจักสานยางพารา จ.สตูล

คุณมนัสนันท์ ทวีวรสุวรรณ ตัวแทนจากแบรนด์ Sarnsard เล่าให้ฟังว่า “เราต้องการอยากโชว์วัสดุจากท้องถิ่นของภาคใต้ในรูปแบบใหม่ที่คนไม่เคยเห็น เพราะโดยปกติเราอาจจะเห็นวัสดุท้องถิ่นในรูปแบบงานคราฟต์ทั่วๆ ไป อาจจะมีความ Local มากๆ เช่น กระเป๋า พัดด้าม หมวกสาน ที่ขายตามชายหาด แต่เรานำมาตีความใหม่ให้เป็นเฟอร์นิเจอร์ หาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับวัสดุจากท้องถิ่น ให้คนในท้องถิ่นเองได้เห็นว่าวัสดุที่เขาเห็นทั่วๆ ไปสามารถต่อยอดได้มากขนาดไหน”

เช่นเดียวกับ คุณอนุพล อยู่ยืน ตัวแทนจากแบรนด์ Mobella “นอกจากโปรเจกต์นี้จะทำให้คนในพื้นที่ได้เห็นว่าวัสดุท้องถิ่นสามารถต่อยอดไปได้แค่ไหนแล้ว อีกหนึ่งความตั้งใจของทีมคือการต่อยอดภูมิปัญญาเพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น เช่น การนำลูกปัดมโนราห์เม็ดเล็กๆ ที่ปกติจะมีแค่คนเฒ่า คนแก่ ในชุมสามารถร้อยได้ แต่ในปัจจุบันบางคนไม่สามารถทำได้แล้วเพราะการมองเห็นลดลงตามอายุ การนำลูกปัดมาดีไซน์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ใช้งานได้ง่ายขึ้น อาจช่วยขยายกรอบเวลาให้ภูมิปัญญาสามารถไปต่อกับคนรุ่นใหม่ได้ หรือลายบาติกนำมาปรับแพทเทิร์นทำลายใหม่เป็นลายหินอ่อน ให้มีความ Modern มากขึ้น การทำตรงนี้ไม่เพียงแต่ต่อยอดมูลค่าของวัสดุ แต่ยังทำให้ดีไซน์เนอร์คนอื่นๆ เห็นโอกาสในการใช้วัสดุท้องถิ่นในการออกแบบมากขึ้นด้วย”

Yara (ยารา)

เก้าอี้ไม้รีไซเคิลผสมกับยางพารา ดีไซน์เนอร์เลือกใช้วัสดุจากยางพารา พืชเศรษฐกิจของภาคใต้ที่มีอยู่ในทุกจังหวัดโดยได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากดอกยางที่เป็นแฉกๆ และใช้สีสันสดใสล้อไปกับสีสันของภาคใต้

At-Taqwa (อัตตักวา)

อัตตักวา อ่านว่า อั๊ด-ตั๊ก-วา เก้าอี้ตัวนี้หากมองเผินๆ หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่านี่คือเก้าอี้ที่ออกแบบมาเพื่อฟังก์ชั่นอะไร ด้วยรูปทรงที่คล้ายกับเก้าอี้ แต่มีผนักด้านหน้า เก้าอี้ตัวนี้คือ “เก้าอี้ละหมาด” ที่ทำมาจากโครงเก้าอี้เก่านำมาดัดสภาพใหม่ เพื่อใช้สำหรับชาวมุสลิมที่เป็นผู้พิการหรือผู้สูงอายุ ให้สามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ โดยลายที่พิมบนผ้านั้นเป็น ผ้ามัดย้อมปั๊มลายบาติก ได้รับแรงบันดาลใจมาจากมัสยิดกลางของภาคใต้ นอกจากนั้นเก้าอี้ตัวนี้ยังมีฟังก์ชั่นอื่นนอกเหนือจากการละหมาด เช่น สามารถใช้อ่านอัลกุรอานด้วยการวางหนังสือไว้ด้านหน้า หรือสามารถถอดพนักพิงด้านหน้าเพื่อเป็นเก้าอี้สำหรับนั่งปกติได้ด้วย นับเป็นการออกแบบที่น่าสนใจเพราะนอกจากจะได้ความสวยงามและฟังก์ชั่นแล้ว ยังซ่อนรายละเอียดที่คิดถึงการใช้งานของผู้พิการและผู้สูงอายุไว้อีกด้วย

Kood-kud (คุดคัด)

เก้าสตูดิโอโอตัวนี้ใช้วัสดุจากเตยปาหนัน จ.ตรัง นำมาเปลี่ยนภาพจำใหม่จากเตยปาหนันที่นิยมนำมาทำกระเป๋าสาน ย้อมสีสันฉูดฉาด มาปรับลวดลายและสีสันใหม่ ให้มีความคลาสสิกและโมเดิร์นมากขึ้น ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากมังคุด พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้

Ma-Hin (ม้าหิน)

หากมองเผินๆ ดูภาพที่เห็นนี้อาจจะเป็นเหมือนม้านั่งหินอ่อนธรรมดา แต่นี่คือ ม้านั่งที่ทำมาจากผ้าย้อมสีธรรมชาติ ความน่าทึ่งของชิ้นงานไม่ได้อยู่ที่การใช้วัสดุทดแทนหินอ่อนเท่านั้น แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังของการออกแบบที่สามารถทะลุกรอบเดิมๆ ที่เราเคยเห็นและคุ้นเคย ม้านั่งนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากความงดงามของหินอ่อน แต่ถูกตีความใหม่ผ่านวัสดุที่เบากว่า งานดีไซน์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของนักออกแบบในการนำเสนอสิ่งที่ทั้งสวยงามและทันสมัยผ่านการผสมผสานระหว่างธรรมชาติและศิลปะในยุคปัจจุบัน

LUCA

เก้าอี้ตัวนี้ทำจากผ้าซาโอริ โดยฝีมือของช่างทอผู้พิการในชุมชน นำมาออกแบบให้เป็นลายอวกาศ ใช้โทนสีเข้มทำให้ดูคลาสสิก แทนภาพจำของผ้าซาโอริที่เป็นสีสันสดใส ส่วนพนักพิงเก้าอี้ถูกสร้างขึ้นจากการสานใบเตยปาหนันให้เป็นทรงกระบอกที่มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ เพื่อโชว์ให้เห็นคุณสมบัติของเตยปาหนันที่มากกว่าแค่เอามาสานเป็นแผ่นเท่านั้น แต่ยังสามารถดัดแปลงรูปทรงหรือสานเป็นเส้นได้อีกด้วย

Bamix

ชุดโซฟาตัวนี้มีดีไซน์การออกแบบและการใช้วัสดุท้องถิ่นจากภาคใต้ เป็นตัวแทนผ้าบาติกจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส โดยมีโซฟา 4 ตัว เป็นลายบาติกที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด คุมโทนสีดำเล่นกับแพทเทิร์นที่ให้ความรู้สึกไม่หยุดนิ่ง แม้ว่าลวดลายจะต่างกันแต่มีความเข้ากันได้เมื่อวางเป็นชุดโซฟา สัญญะทางงานออกแบบที่ซ่อนไว้คือต้องการสื่อสารถึงภาพจำของผ้าบาติกว่าไม่จำเป็นต้องมีสีสันสดใสเสมอไป หากลองปรับให้เข้ากับบริบทของความเรียบง่าย สไตล์มินิมัลลิสต์ มีการจัดวางองค์ประกอบอย่างลงตัว ไม่ว่าจะวางอยู่ในมุมไหนของบ้านก็ยังสวย เข้ากับเทรนด์สมัยใหม่ ยกระดับและเปลี่ยนภาพจำของวัสดุท้องถิ่นได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

เฟอร์นิเจอร์ที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2024 ยังมีเฟอร์นิเจอร์อีกมากมายที่ถูกคิดมาอย่างพิถีพิถันทั้งการดีไซน์และเรื่องราว สิ่งสำคัญของการต่อยอดวัสดุท้องถิ่น คือการมองเห็นคุณค่า จากของบางอย่างที่เราอาจรู้จักหรือเห็นผ่านตาจนชินในชีวิตประจำวันอย่างเช่น ยางพารา กระจูด ผ้าบาติก แต่วันนี้ทั้ง Mobella และ Sarnsard ทำให้เห็นแล้วว่า การหยิบเอาสิ่งของที่ธรรมดาๆ มาเพิ่มมูลค่าสามารถทำได้จริง รวมถึงชุมชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาต่อยอดคุณค่าของวัสดุใกล้ตัวให้ดียิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของตลาด นำมาซึ่งการจุดประกายทางระบบนิเวศสร้างสรรค์ซึ่งกันและกัน มากไปกว่านั้นยังทำให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ไม่ว่าจะในพื้นที่หรือนอกพื้นที่สามารถมองเห็นและนำวัสดุท้องถิ่นมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยได้อีกด้วย สิ่งนี้เปรียบเสมือนเป็นการนำเสนอฉากทัศน์ใหม่ให้กับวัสดุในท้องถิ่นบางอย่างที่กำลังหายไปจากชุมชนได้เป็นอย่างดี

_

#PTDW2024 #PakkTaiiDesignWeek #TheSouthsTurn #ถึงทีใต้ได้แรงอก

แชร์