The Making of - Pakk Taii Neighbor
เผยแพร่เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว
The Making of Pakk Taii Neighbor เมื่อคอมมูนิตี้ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอความเป็นตัวตนให้โลกเห็นในแบบของตัวเอง
ปักษ์ใต้ดีไซน์วีคเป็นแพลตฟอร์มและพื้นที่แห่งอิสระในการปล่อยของให้โลกรู้ว่าปักษ์ใต้บ้านเรามีดีแค่ไหน เป้าหมายหลักอีกอย่างหนึ่งของงานคือการเปิดพื้นที่เพื่อให้ทุกคน โดยเฉพาะชุมชน เครือข่ายนักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการในพื้นที่ ได้มีส่วนร่วมกับในการพรีเซนต์ความเป็นบ้านเรา ในแบบฉบับของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวชีวิต วัฒนธรรม อาหาร หรือศิลปะ มีหลายชุมชนในภาคใต้ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ งานนี้จะช่วยเล่าให้เรื่องราวเหล่านั้นไม่เพียงแต่อยู่ในพื้นที่ แต่สามารถข้ามพรมแดนออกไปให้ผู้คนได้เห็นและสัมผัสถึงวิถีชีวิตแบบปักษ์ใต้ที่แท้จริง เพราะความเป็นท้องถิ่นไม่ควรถูกจำกัดไว้เพียงแค่ในชุมชน แต่ควรจะเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและชื่นชมได้ใกล้ชิด
นิทรรศการ (กิน) “ลาต๊ะ”: ภาษา อาหาร และการต่อยอด – เล่าเรื่องราว จากความสมบูรณ์ในทะเล จนนำมาสู่เรื่องสนุกในครัว ความรุ่มรวยทางภาษาเฉพาะถิ่น โดย นักรบผ้าถุง & อาหารปันรัก จากชุมชนจะนะ สงขลา
“ลาต๊ะ” นิทรรศการที่นำเอาความสมบูรณ์ในท้องทะเล อาหารและภาษาถิ่นเฉพาะของชาว “สะกอม” มารวมกัน เพื่อสื่อสารให้คนภายนอกได้รู้จัก “จะนะ” มากกว่าแค่เมืองที่กำลังจะถูกเปลี่ยนเป็นแหล่งอุตสาหกรรม เพราะนิทรรศการนี้จะทำให้เราได้รู้จักเมืองจะนะผ่านวิถีชีวิตของชาวบ้านโดยแท้จริง
คำว่า “ลาต๊ะ”แปลว่ากินเล่น ที่มาของชื่อนี้มาจากการที่เมืองจะนะเต็มไปด้วยทรัพยากรอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อใครไปเที่ยวจะนะต้องได้กินอิ่มเสมอ จนเกิดเป็นคำเฉพาะพื้นที่ เมื่อกินอิ่มแล้วชาวจะนะจะบอกว่า “ลาต๊ะ” คือให้เรากินเล่น ๆ นั่นเอง นิทรรศการนี้พาเราไปรู้จักตั้งแต่แหล่งที่มาของวัตถุดิบ ในอาหารแต่ละจานจากต้นทางสู่ปลายทาง จากการเล่าโดยชาวบ้านผ่านสำเนียงน่ารัก ๆ สนุกสนานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวจะนะ
“ได้หัวกับสำเนียงสะกอม”
ใครเคยไปจะนะจะทราบดีว่าภาษาใต้ในแบบของจะนะนั้นไม่เหมือนที่อื่น ๆ มักจะมีความตลก น่ารักอยู่ในสำเนียงที่พูดเสมอ นิทรรศการนี้จึงนำเอา “ภาษาสะกอม” มาสอนผ่าน Sound Track ทั้งการเรียกชื่อในแบบคนจะนะ การพูดคำศัพท์เฉพาะของจะนะ การเอาตัวรอดหากอยากกินอิ่มที่จะนะ หากใครที่ได้ฟังก็ต้องอมยิ้มไปตาม ๆ กัน ให้กับความน่ารักของภาษาถิ่นที่ไม่เหมือนใครนิทรรศการนี้อาจไม่ได้เป็นนิทรรศการด้านศิลปะที่หวือหวา หรือแปลกใหม่จนน่าตกใจ มีวิธีการนำเสนอแบบธรรมดา ๆ ทำให้คนที่มาเยี่ยมชมได้มีส่วนร่วมกับนิทรรศการแบบง่าย ๆ ลองชิม ลองฟัง ลองดู แต่ทำให้ผู้ชมรู้จักเมืองจะนะมากขึ้นผ่านพื้นที่เล็ก ๆ ชวนให้คนอยากไปสัมผัสจะนะจริงๆ เพราะเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของนิทรรศการครั้งนี้คือต้องการให้คนภายนอกได้รู้จักเมืองจะนะ และสิ่งที่คนจะนะพยายามขับเคลื่อน
คุณศุภวรรณ ชนะสงคราม หรือ พี่แก็ส หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มที่ขับเคลื่อนเมืองจะนะเล่ากับเราว่า “สิ่งสำคัญในการนำเสนอนิทรรศการครั้งนี้คือการส่งเสียงออกไปยังภายนอกให้รู้จักความน่ารัก วิถีชีวิตของจะนะมากขึ้น เพราะที่นี่กำลังจะกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรม การเข้ามาของอุตสหากรรมไม่เพียงแต่พรากทรัพยากรไปจากชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังพรากวิถีชีวิต ความน่ารักของชาวจะนะไปด้วย เพราะอาหารบางอย่าง วัฒนธรรมบางอย่างอาจสูญหายไปตลอดกาล จึงเกิดเป็นไอเดียในการอยากโชว์ของดีที่จะนะมีผ่านความรักของจะนะให้ทุกคนได้เห็น”
Long Table ดินเนอร์ ยกระดับเมนูบ้านๆ สไตล์ ‘บ้านบน’ สู่โต๊ะดินเนอร์สวยงามน่ารับประทาน
พูดได้ว่าจังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่ของการอยู่ร่วมกันของหลากหลายวัฒนธรรมก็ไม่ผิดนัก หากใครเคยเดินทางมาสงขลาก็สามารถสังเกตุได้ไม่ยากจากย่านเมืองเก่าสงขลา ที่มีทั้งวัด ศาลเจ้าและมัสยิดอยู่ร่วมกัน หนึ่งในชุมชนสำคัญของย่านเมืองเก่าสงขลาที่มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจคือ “บ้านบน” ที่นี่เป็นชุมชนมุสลิมที่มีจุดเด่นเรื่องอาหารและการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม ครั้งนี้ชาวชุมชนบ้านบนจึงนำเสนอชุมชนของตัวเองผ่าน “อาหาร” ที่มีหลากหลายวัฒนธรรมมาผสมกัน บริเวณถนนหน้ามัสยิดบ้านบน ถูกจัดเป็นโต๊ะแถวยาวเพื่อเสิร์ฟอาหารพื้นบ้านที่ขายโดยชาวบ้านในตลาดบ้านบน แต่นำเสนอ ในรูปแบบของ “Chef table” เพื่อยกระดับเมนูอาหารของชาวบ้าน เพิ่มมูลค่าให้กับอาหารท้องถิ่น ถ่ายทอดเรื่องราวของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่นลงในอาหารทุกจาน อาหารที่เคยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน กลับกลายเป็นผลงานศิลปะบนโต๊ะอาหาร ซึ่งไม่เพียงแต่อิ่มอร่อย แต่ยังสร้างความประทับใจและเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับรากเหง้าของตัวเองในรูปแบบที่งดงามยิ่งขึ้น
เสิร์ฟอาหาร แบ่งเป็น 3 คอร์ส ตามแบบฉบับร้านอาหาร Fine Dining
คอร์สแรกจะเปิดประสบการณ์การทานอาหารให้กับผู้ที่ได้ชิม ใน 1 จาน ประกอบด้วยอาหารหลากหลายชนิด ได้แก่ หมี่กรอบที่เป็นขนมพื้นบ้านของจังหวัดสงขลา ขนมจีบไก่ในแบบมุสลิม สาคูไส้ไก่ และลูกชิ้นปลานึ่งราดซอสแดงที่หาทานได้แค่ที่สงขลาเท่านั้น ส่วนคอร์สหลักเป็นข้าวผัดแดง อาหารมื้อหลักที่ทานกันเฉพาะคนในพื้นที่บ้านบน นำข้าวสวยคลุกกับซอสสีแดง เคียงด้วยไก่ผัดหวาน หอมใหญ่ ไข่พะโล้ และน้ำพริกสูตรเฉพาะ ทานคู่กับซุปไก่ที่มีรสชาติเปรี้ยว เค็ม เผ็ด ตบท้ายด้วยขนมหวานพื้นบ้าน ขนมครกน้ำแกงกะทิ และขนมกุหลี ขนมพื้นบ้านภาคใต้ที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว
คุณดนัย โต๊ะเจ หรือ พี่แม หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านบนบอกกับทีมปักษ์ใต้ว่า “สิ่งสำคัญของการนำอาหารธรรมดา ๆ ที่ชาวบ้านมองข้ามมาทำในรูปแบบใหม่ เพื่อต้องการให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้เห็นว่าอาหารของเขาสามารถถูกยกระดับไปได้ขนาดไหน และคนภายนอกที่มาเยียนได้เห็นถึงความเป็นมาของชุมชน การอยู่ร่วมกันของสังคมพหุวัฒนธรรมของชุมชนบ้านบน”
คราฟต์ใต้ได้แรงอก วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร (วัดกลาง)
วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร หรือ วัดกลาง เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของชุมชนเมืองเก่าสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม วัดแห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่สำหรับประกอบศาสนกิจ แต่ยังเป็นจุดศูนย์กลางของการรวมตัวและสืบทอดประเพณีของชุมชนเมืองเก่าสงขลา
เปิดประสบการณ์การชมจิตรกรรมฝาผนังรูปแบบใหม่ กับการออกแบบแสงสี สำหรับงานจิตกรรมฝาผนังฝีมือช่างหลวง
Pakk Taii Design Week ในปีนี้วัดกลางสงขลา ได้นำเอาการจัดแสดง แสง สี เสียง ในอุโบสถวัดกลาง มาเป็นไฮต์ไลท์สำคัญในงาน การจัดแสงสีในวัดกลางสงขลาครั้งนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างบรรยากาศให้วัดมีความน่าสนใจ มีการใช้เทคโนโลยีแสงสี ในบรรยากาศช่วงเวลาเย็นและค่ำ เพราะทางผู้ออกแบบตั้งใจว่าอยากให้วัดไม่เป็นเพียงแค่เป็นสถานที่สำหรับการทำบุญหรือจัดกิจกรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่คนรุ่นใหม่สามารถมาเพลิดเพลิน และรู้สึกดื่มด่ำไปกับศิลปะ วัฒนธรรมในรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นได้อีกด้วย นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงโขน มโนราห์ และมีการนำงานคราฟต์หลากหลายจากจังหวัดพัทลุงมาจัดแสดง เช่น งานสาน สานเครื่องปั้นดินเผา แบรนด์เสื้อผ้าที่ทำโดยคนในชุมชน ให้ผู้เข้าชมได้เห็นถึงการต่อยอดสิ่งของงานพื้นบ้าน ให้มีความหลากหลายมากขึ้น
คุณจเร สุวรรณชาต หนึ่งในทีมงานที่ขับเคลื่อนวัดกลาง สงขลา เล่ากับทีมปักษ์ดีไซน์วีคว่า “เป้าหมายของวัดในปีนี้มีเพียงไม่กี่อย่าง คือ ต้องการให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับวัดมากขึ้น กระจายรายได้ให้คนในชุมชนรอบข้าง และต้องการให้คนไกลบ้าน หรือคนรุ่นใหม่มีโอกาสหรือใช้โอกาสนี้ได้การกลับบ้าน นักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ได้เข้ามาในวัดกลางมากขึ้น แทนที่จะไปเที่ยวคาเฟ่ ถ้าเราทำให้วัดเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น วัดจะมีความน่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่มากขึ้น”
_
#PTDW2024 #PakkTaiiDesignWeek #TheSouthsTurn #ถึงทีใต้ได้แรงอก