Insight The South's Turn เจาะลึกความดีงามของปักษ์ใต้ผ่านงานสร้างสรรค์
เผยแพร่เมื่อ 4 เดือนที่แล้ว
Insight The South’s Turn เจาะลึกความดีงามของปักษ์ใต้ผ่านงานสร้างสรรค์
หากจะพูดว่าปักษ์ใต้มีดีไม่เหมือนใคร อาจเทียบไม่ได้กับการเข้าไปค้นพบเรื่องราวความประทับใจด้วยตัวเอง รับประกันได้เลยว่าจะยิ่งชอบยิ่งหลงรักปักษ์ใต้มากกว่าที่เคย เราอยากพามาทำความรู้จักเรื่องที่ทุกคนคุ้นเคยกับภาคใต้ในรายละเอียดที่ลึกยิ่งกว่าที่เคย ผ่านการถอดรหัสเรื่องราวของงานสร้างสรรค์ 4 กลุ่ม ที่เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2567 จะหยิบมานำเสนอและต่อยอดกันในปีนี้ เอกลักษณ์เฉพาะด้านความจัดจ้านเฉพาะตัวของ อาหารใต้ (Gastronomy) อย่างผัดสะตอ แกงไตปลา แกงคั่วแบบต่างๆ เด่นดังจนทำให้ภูเก็ตได้ขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก เมื่อปี 2015 (UNESCO City of Gastronomy, 2015) ศิลปะและงานฝีมือ (Art & Crafts) อนาคตของการต่อยอดต้นทุนวัฒนธรรมผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อย่างเช่น ‘โนรา’ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) ดังไกลไปแสดงถึง Venice Biennale 2022 เทศกาลงานศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ภาพยนตร์ (Film) ภาคใต้เองเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของการเป็นสุดยอดโลเคชั่น ส่งต่อฉากทัศน์ใหม่ๆ ให้เข้าไปเติมเต็มความสมบูรณ์ของวงการภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นทัศนียภาพด้านวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม องค์ความรู้ และธรรมชาติ ต่างถูกนำเสนอผ่านเลนส์ขยายให้ชาวโลกได้จับจ้อง กวาดรายได้ให้ทั้งประเทศไปมากกว่า 6,000 พันล้านบาท และงานพัฒนาเมือง (District Project) ที่คนใต้ต่างตื่นตัวในความรู้สึกยึดโยงกับพื้นที่จนเกิดเป็น Momentum ใหม่ๆ อย่างในจังหวัดตรัง ที่ชุบชีวิตพื้นที่คลองห้วยยางให้กลับมามีชีวาอีกครั้ง ในช่วงระหว่างเทศกาลสร้างสรรค์ “มาแต่ตรัง” เพื่อเป็นจุดแรกเริ่มของการโอบรับคนรุ่นใหม่ให้ผลิบานได้อย่างยั่งยืน
01 เมืองที่ดี คือเมืองของผู้คน
‘เขา นา ป่า เล’ เป็นคำอธิบายที่กระชับแต่ครอบคลุม เมื่อเรานึกถึงทัศนียภาพของเมืองในภาคใต้ แต่เมืองไม่ใช่เรื่องของภูมิทัศน์เท่านั้น ภาคใต้เองก็มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งส่งต่อต้นทุนทางวัฒนธรรมและยังหลงเหลือเป็นโบราณสถานหรือโบราณวัตถุอีกมากมาย แต่ความเจริญงอกงามของเมืองในปัจจุบัน อาจไม่ถูกวัดจากความอลังการหรือโอ่อ่าของสิ่งปลูกสร้างใดๆ มากไปกว่าคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะเมืองคือผู้คน คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในเมือง สามารถเป็นตัวชี้วัดสำคัญของเมืองน่าอยู่ได้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ในแต่ละที่แตกต่างกันไปตามบริบทเมือง ความท้าทายของหัวเมืองปักษ์ใต้คงหนีไม่พ้น ปัญหาหลักๆ เช่นเดียวกับหลายจังหวัดในประเทศไทย อย่างด้านขนส่งมวลชน ความซบเซาของย่านเมืองเก่าหรือการขาดพื้นที่ปฏิสัมพันธ์สร้างสรรค์ สะท้อนออกมาเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ปรากฏขึ้นในหลายเมือง เช่น “Creative Nakhon” ที่หยิบจับอัตลักษณ์ ต้นทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นกลายมาเป็นเทศกาลงานสร้างสรรค์ที่ช่วยปลุกย่านซบเซาในนครศรีธรรมราช ลงไปปัตตานีเกิดงาน “Pattani Decoded” เทศกาลที่ปลุกความหวังให้กับเมือง ผ่านการชุบชูชีวิตให้กับอาคารหลังเก่าด้วยนิทรรศการและงานสร้างสรรค์ ด้วยพลังของนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ในพื้นที่ ไปจนถึงล่าสุด “มาแต่ตรัง” ที่เลือกพื้นที่คลองห้วยยางในการจัดเทศกาล ปลุกระดมความเห็นต่อการพัฒนาคลองห้วยยาง พร้อมส่งต่อเป็นพื้นที่สาธารณะสร้างสรรค์และปลอดภัยให้กับคนเมือง นอกจากนี้พลังของชาวใต้เพื่อพัฒนาขนส่งมวลชน ยังมีให้เห็นในจังหวัดภูเก็ตอย่าง “ภูเก็ตซิตี้บัส” ที่ให้บริการรถเมล์ตั้งแต่สนามบินไปจนถึงหาดราไวย์ มาจากความร่วมมือของภาคเอกชนในพื้นที่และการส่งเสริมจากภาครัฐ ในครั้งนี้เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ก็ได้หยิบยกประเด็นเมืองของย่านเมืองเก่าสงขลาเพื่อมาใช้เป็นโจทย์ในงานออกแบบเพื่อทดลองปรับปรุงและแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน ด้วยหวังว่าจะทำให้เกิดการประสานความร่วมมือที่ดีของทุกคนในเมืองที่เกี่ยวข้อง ให้มีส่วนร่วมในการออกแบบเมืองที่ดีที่พวกเขาอยากให้เป็น
02 ต่อยอดงานฝีมือท้องถิ่น สู่สินค้าไลฟ์สไตล์ของนักสร้างสรรค์รุ่นต่อไป
เมื่อพูดถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาของผู้คน อดไม่ได้ที่ต้องเล่าถึงศิลปะและงานฝีมือ ที่ต่อยอดจากวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น อย่างเรื่องผ้า ภาคใต้บ้านเรามีทั้ง ผ้าปาเต๊ะ ผ้าทอเกาะยอ ผ้าทอนาหมื่นศรี ผ้าปะลางิง ซึ่งมีประวัติศาสตร์ที่มาเกี่ยวข้องกับผู้คนที่หลากหลาย แต่เมื่อเวลาผันเปลี่ยนการนำเสนอเพชรเม็ดงามเม็ดเดิมอาจต้องมีวิธีใหม่ๆ เช่นเดียวกับ “CLOTHEAR” แบรนด์จากหาดใหญ่ ที่หยิบจับผ้าปาเต๊ะมาดีไซน์ให้ใส่ได้ในชีวิตประจำวันและหลุดจากกรอบเดิมๆ ไม่จำเป็นต้องใส่ผ้าปาเต๊ะเป็นผ้านุ่งเสมอไป เช่นเดียวกับ “ศรียะลาบาติก” จากจังหวัดยะลา ที่ชุบชีวิตการทำผ้าปะลางิงที่หายไปกว่า 80 ปี ให้ถูกกลับมาชื่นชมอีกครั้ง ด้วยการออกแบบสมัยใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ไม่ใช่เพียงแค่ผ้าเท่านั้น งานสานก็เป็นหนึ่งในอาชีพดั้งเดิมของชาวใต้ที่สืบทอดกันมานาน เมื่อถูกหยิบมาใส่ความสร้างสรรค์ เพิ่มลูกเล่นและการใช้งาน อย่าง “SARNSARD” จากจังหวัดตรัง ที่เลือกหยิบจับเตยปาหนันมาปรับเปลี่ยนให้เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น กระเป๋าตังค์ กระเป๋าถือ และ “กระจูดวรรณี” จากพัทลุง ที่สามารถนำกระจูดไปจับกับสินค้าเครื่องใช้และเครื่องแต่งกายได้ ตั้งแต่เก้าอี้ เสื่อ ไปจนถึงหมวก งานฝีมือเหล่านี้ นอกจากจะช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของภาคใต้ผ่านลวดลายในงานต่างๆ ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจภายในชุมชน สร้างโอกาสและรายได้ให้กับคนรักงานสร้างสรรค์ในท้องถิ่นอีกด้วย
03 อาหารเผ็ดหรอยได้แรงและกลมกล่อมไปด้วยวัฒนธรรมหลากหลาย
มาปักษ์ใต้หยุดกินไม่ได้แน่นอน! เพราะอาหารที่นี่หลากหลาย ครบทุกรส ทุกแนว หากพูดถึงอาหารใต้ สิ่งแรกที่คนต่างจังหวัดนึกถึงคงมีคำว่า “แกงใต้” ผุดขึ้นมา เหตุผลที่แกงใต้ได้ขึ้นชื่อลือชาว่าอร่อย และเชื่อถือได้ในความเครื่องถึง รสถึง คงเป็นเพราะเครื่องแกงในภาคใต้ เน้นรสชาติที่เผ็ดร้อน จัดจ้านมากกว่าพริกแกงภาคอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่แค่อาหารไทยพื้นถิ่นอย่างเดียวที่เป็นที่จดจำ อาหารจีนและมุสลิมก็เช่นเดียวกัน ด้วยภูมิประเทศแบบคาบสมุทร จึงเกิดเป็นเมืองท่ามากมาย ที่มีการแลกเปลี่ยน ค้าขายและเดินทางของผู้คนตั้งแต่อดีต อาหารบอกเล่าเรื่องราวของพื้นเพและถิ่นที่มาของผู้คน อาหารจีนในภาคใต้ก็ยังมีความหลากหลายลึกลงไปถึง จีนแต้จิ๋ว จีนแคะ จีนไหหลำ อาหารตัวแทนของความเป็นจีนที่นิยม มีทั้งติ่มซำหรือแต่เตี้ยม บ๊ะกุ๊ดเต๋ ก๋วยเตี๋ยวแคะ ด้านอาหารมุสลิมในภาคใต้คงถือว่าหรอยเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เนื่องจากชาวมุสลิมอาศัยกันหนาแน่นในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็น กรือโป๊ะ ข้าวมันแกงไก่ โรตี หรือแม้กระทั่ง ข้าวยำปักษ์ใต้ ซึ่งมีน้ำบูดูเป็นตัวเอก โดยการทำน้ำบูดูถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวมลายูมุสลิม ซึ่งช่วยเสริมรสชาติที่พิเศษร่วมกับผักและสมุนไพรนานาชนิดในข้าวยำ นอกจากอาหารจากแต่ละวัฒนธรรมจะโดดเด่นแล้ว ขึ้นชื่อว่าชูโรงด้านพหุวัฒนธรรม จึงไม่แปลกที่ปักษ์ใต้จะมีอาหารฟิวชั่น ไม่ว่าจะเป็น “เต้าคั่ว” ที่ผสมความเป็นมุสลิมและจีนแคะเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ประกอบด้วยเส้นหมี่ฮุ้น (หมี่ขาว) ถั่วงอกลวก ผักบุ้งลวก พร้อมกับหูหมูพะโล้ กุ้งทอด เบือทอด ราดด้วยน้ำส้มจากน้ำตาลโตนด อาจจะใส่ไข่เป็ดต้มสักฟองเข้ากันได้พอดิบพอดี อีกทั้ง “ข้าวสตู” ที่มีสูตรแบบฝรั่งแต่ผสมยาจีนและใส่กะทิในน้ำซุปแทนการใช้เนย เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ในครั้งนี้จะพาทุกคนมาลิ้มชิมรสอาหารใต้อย่างเข้าใจที่มาที่ไปในวัตถุดิบของอาหารแต่ละจาน พร้อมทั้งได้รู้จักกับชุมชนแหล่งอาหารต้นทางวัตถุดิบที่น่าทึ่ง ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่รับรองเลยว่าประทับใจแน่นอน
04 โอกาสและพื้นที่เฉิดฉายของคนทำหนัง
ใครๆ ก็ทราบว่า อ่าวมาหยา เป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งโลกก็มีส่วนสำคัญมาจาก ภาพยนตร์เรื่อง เดอะบีช อิทธิพลของภาพยนตร์ สามารถสร้างแรงกระเพื่อมสำคัญให้กับการท่องเที่ยวได้ ภาพยนตร์เองก็มีความสามารถในการดึงศักยภาพ หรือความสุนทรียะบางอย่างของวัฒนธรรม เรื่องราว สถาปัตยกรรมหรือลักษณะพื้นที่มาเป็นที่รู้จักได้มากขึ้น อย่างกระแสซีรีส์ “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความรักของเด็กชายสองคนที่พัฒนาความสัมพันธ์ในวัยมัธยมปลายบนเกาะภูเก็ต เรื่องราวความรักทั้งคู่ดำเนินไปในสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรม ที่ถ่ายทอดศิลปะแบบเพอรานากัน ตึกรามบ้านช่องที่มีเอกลักษณ์ แต่สิ่งสำคัญคือความฝันของเด็กสองคนที่อยากเรียนนิเทศศาสตร์ เป็นปลายทางของเส้นเรื่องที่ทั้งสองต้องพยายามไปให้ถึง โปรแกรมเทศกาลภาพยนตร์และชุมชนดูภาพยนตร์อิสระที่กำลังผลิบานในปักษ์ใต้ เปิดพื้นที่ให้โอกาสเยาวชน คนรุ่นใหม่ได้มาเรียนรู้เรื่องภาพยนตร์ได้ง่ายกว่า เต๋และโอ้เอ๋วในแปลรักฉันด้วยใจเธอ โปรแกรมเพื่อให้นักศึกษาและเยาวชนในปักษ์ใต้ ได้มีโอกาสเสวนาหรือเวิร์กช็อปทั้งด้านการหาไอเดีย การแสดง กราฟิก เพื่อบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ที่มีฝันในการสร้างภาพยนตร์ มีโอกาสเรียนรู้และทำความเข้าใจองค์ประกอบสำคัญหลักๆ ของภาพยนตร์ร่วมกับผู้มีประสบการณ์ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย เพื่อนักศึกษาและคนรุ่นใหม่มีพื้นที่ได้เฉิดฉาย โดยสักวันหนึ่งเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะกลับมางอกเงยออกดอกออกผลในบ้านเกิดปักษ์ใต้ส่งแรงกระเพื่อมให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่อไป