เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2567, 17 –25 AUG

ตีโจทย์แนวคิด Key Visual จากต้นทุนสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมใต้ในเทศกาล Pakk Taii Design Week 2024

เผยแพร่เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว

ตีโจทย์แนวคิด Key Visual จากต้นทุนสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมใต้ ของ SoulSouth Studio ในเทศกาล Pakk Taii Design Week 2024

เทศกาลงานออกแบบประจำภาคใต้ หรือ Pakk Taii Design Week วนกลับมาอีกปี โดยปีนี้มาในธีม ‘ถึงทีใต้ ได้แรงอก!’ แน่นอนว่า ปราการด่านแรกของเทศกาลงานออกแบบก็คงต้องยกให้เป็นการออกแบบ Key Visual (KV) ซึ่งก็คือการสื่อสารคอนเซ็ปต์หลักของเทศกาล โดยความสำคัญของ Key Visual คือการสร้างภาพจำเพื่อสื่อสารถึง ‘ธีม’ หรือ ‘คอนเซ็ปต์’ หลักของงานเทศกาลผ่านการออกแบบกราฟิกลงบนโปสเตอร์ โบรชัวร์ บิลบอร์ด และงานอาร์ตเวิร์กสื่อสารทางออนไลน์อีกหลากหลาย ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีผลงานการออกแบบอย่างต่อเนื่องนั่นคือ SoulSouth Studio ได้ร่วมกันออกแบบ Key Visual ประจำงานปักษ์ใต้ดีไซน์วีคในปีนี้

Key Visual หลักของกลุ่ม SoulSouth Studio คือการนำสินทรัพย์และทรัพยากรทางภาคใต้ โดยเฉพาะทะเล ภูเขา หรือมรดกทางวัฒนธรรมที่รวมไปถึงพหุวัฒนธรรมทั้งจีน ไทย หรือมุสลิม ด้วยการแปลความหมายของคำว่า ‘The South’s Turn’ การหวนคืนสู่ปักษ์ใต้ และการแสดงศักยภาพในแบบของคนใต้ หรือ Your Turn ที่แปลว่า ถึงตาเธอแล้ว! ผ่านงานภาพกราฟิกโดยการตีความคีย์หลักของภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัดในลักษณะรูปทรงเรขาคณิต 14 ช่อง 14 ล็อก ซึ่งเป็นตัวเลขที่เท่ากับจำนวนจังหวัดพอดี ส่วนการเลือกใช้โทนสีก็กินความหมายถึงอาหารพื้นถิ่นทางภาคใต้ เช่น แกงไตปลา แกงส้ม แกงคั่วกะทิ ฯลฯ ยังรวมถึงการตีโจทย์ตามหลักการทางภูมิศาสตร์อย่างทะเลหรือภูเขา อย่างเช่นการออกแบบฟอนต์รูปตัว ‘S’ ให้เหมือนกับการม้วนตัวของเกลียวคลื่นในทะเล คล้ายเป็นการ ‘กลับมา’ และ ‘ออกไป’ (จากบ้านเกิด) อีกด้วย นอกจากนี้ งานออกแบบของกลุ่ม SoulSouth Studio มักจะให้ภาพจำของงานออกแบบกราฟิกที่มีสีสัน Colorful สดชื่น มีชีวิตชีวา อย่างที่พวกเขาพูดติดตลกกันว่า ‘พวกเรา…ซ่า แต่ก็สดชื่น’ สอดคล้องกับการสร้างสรรค์งานออกแบบ Key Visual ของพวกเขาไม่ใช่เล่นๆ

May be an image of 3 people and text

นับย้อนกลับไปไม่กี่ปีก่อน กลุ่มคนหลากเจนเนอเรชั่นที่รวมตัวกันขับเคลื่อนพื้นที่บ้านเกิดให้กลายเป็นเมืองแห่งสีสันแปลกตาที่หลายๆ คนน่าจะจดจำพวกเขาได้ นั่นคือ ‘YALA STORIES’ ที่มีนักออกแบบอย่าง SoulSouth Studio เข้ามาเสริมทัพเรื่องการออกแบบ Key Visual (KV) หรือแบรนด์ดิ้งที่เน้นสีสันสด ใหม่ แถมมีชีวิตชีวา ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน SoulSouth Studio ได้รับโจทย์ใหญ่จากงานปักษ์ใต้ดีไซน์วีค ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 17-25 สิงหาคม 2567 โดยออกแบบ Key Visual ประจำเทศกาลที่พวกเขาผ่านการเบรนสตรอมร่วมกันหลายเดือนจนออกมาเป็น Key Visual ในแบบที่เห็นพ้องอย่างลงตัว

SoulSouth Studio คือกลุ่มนักออกแบบและสตูดิโอออกแบบที่รับปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์ดิ้ง รวมถึงการวางแผนงาน การจัดนิทรรศการ ฯลฯ ก่อตั้งโดย การีม-อับดุลกะริม ปัตนกุล และเปา-เฟาซี สาและ ตั้งแต่พวกเขาเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 4 ซึ่งแบรนด์ที่เคยร่วมงานกับ SoulSouth Studio อย่าง สสส., ททท., UNICEF for every child., a.e.y.space, BUSAN International Film Festival เป็นต้น ปัจจุบัน SoulSouth Studio มีสมาชิกด้วยกัน 5 คน คือ การีม-อับดุลกะริม ปัตนกุล, เปา-เฟาซี สาและ, มีนา-อามีณา อาแล, ดีน-นุรดีน กาซอ และฟิต-ฮาฟิส กาซอ

SoulSouth Studio บอกว่า Key Visual ในความหมายสำหรับพวกเขาคือองค์ประกอบหลักที่สร้างความประทับใจต่อการสื่อสาร หรือเปรียบเสมือนหัวหน้าห้องที่คอยควบคุมทิศทางและดูภาพรวมให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมไปถึงการเล่าเรื่องโดยขมวดเรื่องราวตามโจทย์นั้นๆ ด้วยการใช้กลไกการออกแบบกราฟิกเพื่อสื่อสารออกไป และต้องตีความให้คนเข้าใจได้ง่าย เห็นแล้วกระฉับกระเฉง รวมถึงซ่อนความนัยให้ออกมาอย่างมีความหมายไปด้วยในตัว

May be a graphic of text

การกลับมา

คีย์หลักของการจัดงานปักษ์ใต้ดีไซน์วีคในปีนี้มาในธีม ‘THE SOUTH’S TURN ถึงทีใต้ ได้แรงอก!’ เป็นการพูกถึงปรากฏการณ์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ชาวปักษ์ใต้ที่ ‘กลับมา’ มองหาของดีในบ้านเกิดและรวมตัวกันสร้างสรรค์งานที่หลากหลาย ทางทีม Soulsouth Studio ตีโจทย์ออกมาเป็นคอนเซ็ปต์ตั้งต้นถึงความเป็น ‘เซาเทิร์น’ หรือ ‘ภาคใต้’ ที่หมายถึงการกลับมาสานต่อกิจการและพัฒนาบ้านเกิดในแบบของตัวเอง หากสังเกตจากโปสเตอร์ประจำงานปักษ์ใต้ดีไซน์วีคของปีนี้จะเห็นว่ามีการออกแบบภาพกราฟิก 14 ช่อง เท่ากับว่าเป็นภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด และเปรียบเสมือนการกลับมาสู่บ้านเกิด และออกไปจากบ้านเกิดก็ได้เช่นเดียวกัน “พวกเราอยากออกแบบ Key Visual ให้ออกมาเป็น International SoulSouth เราก็เอาโจทย์ ‘Southern’ กับ ‘ถึงทีใต้ ได้แรงอก!’ มาตีความ เช่น คนเดินทางกลับบ้านมาพัฒนาของดีในภาคใต้ ตอนแรกตีโจทย์ออกมา 4 แบบ บางอันโมเดิร์น บางอันเป็น Traditional บางอันหลุดธีมไปเลยก็มี เลยจบในแบบที่เห็น” เปาอธิบาย

May be a graphic of map and text

การีมเล่าบ้างว่า “Key Visual จะแบ่งเป็นสมการง่ายๆ ประมาณ 3 เลเยอร์ เลเยอร์แรกคือ ‘อดีต’ ที่เป็น Background ของคนใต้ เลเยอร์ที่สองคือ ณ ‘ปัจจุบัน’ ของคนคนนั้น และเลเยอร์ที่สามคือการเดินทางกลับมาพัฒนาบ้านเกิดให้ดีขึ้นใน ‘อนาคต’ ที่ใช้ Element สื่อถึงเป็นใต้ในแง่มุมทางศาสนา การแต่งกาย วัฒนธรรม ที่ไม่อยากให้ดูทื่อเกินไป เลยลดทอนให้เป็นรูปทรงเรขาคณิต แต่เราไม่ได้แตะเรื่องศาสนานะ เราเน้นเรื่องวัฒนธรรมมากกว่า พยายามใส่ให้คละกันในทุกพื้นที่หรือทุกจังหวัดในภาคใต้ ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมจ๋าแค่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง” ส่วนมีนาอธิบายเสริมว่า “ถ้าสังเกตดีๆ เราวางคอนเซ็ปต์ Key Visual บนโปสเตอร์ออกเป็น 14 ช่อง หมายถึงภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด จะมองในแง่การเดินทางกลับมาและออกไปก็ได้ หรือจะมองในมุมของการแบกสัมภาระของคนที่เพิ่งกลับมาบ้านหรือออกไปจากบ้านก็ได้เช่นกัน หรือการนำตัวอักษรตัวแรก นั่นคือ ‘S’ ที่มาจากคำว่า ‘SOUTH’S TURN’ ที่แปล Key Visual ออกมาเหมือนเช่นการม้วนตัวไหลวนของเกลียวคลื่นในทะเล

ทีม SoulSouth Studio ออกความเห็นเพิ่มว่า Key Visual จะไม่ตายตัวอยู่แค่เรื่องคอนเซ็ปต์ อีกเรื่องที่สำคัญคือ ‘ฟังก์ชั่น’ ในการออกแบบที่ต้องมีความครีเอทีฟมากๆ โดยการนำตัวตนของ SoulSouth เพิ่มเข้ามาด้วย เช่นการเล่นสีแบบ Colourful ที่ดูแล้วสดชื่น ซึ่งการสื่อความถึง ‘สี’ ในการออกแบบครั้งนี้ก็แฝงด้วยนัยของความเป็น ‘ภาคใต้’ อย่างเช่น ‘สีเหลือง’ มาจาก ‘แกงกะทิ’ หรือจะเป็น ‘สีส้ม’ คือสีของเครื่องแกงที่นำไปทำแกงส้มทางภาคใต้ ส่วน ‘สีน้ำตาลเข้ม’ คือสีของ ‘แกงไตปลา’ หรือ ‘สีฟ้า’ แทนค่าจากท้องทะเล หรือ ‘สีน้ำตาล’ แทนค่าถึงภูเขา ความเป็นพื้นดิน ฯลฯ องค์ประกอบจะมีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ วัฒนธรรม ภูมิภาค หรือพื้นที่ทางภาคใต้

May be a graphic of text

ยังคงอยู่

สำหรับงานปักษ์ใต้ดีไซน์วีคในปีนี้ต่างจากปีที่แล้วตรงที่ได้เพิ่มรูปแบบการ Collaboration ของทั้งนักออกแบบในพื้นที่และนักออกแบบนอกพื้นที่เข้ามาร่วมสร้างสรรค์งานร่วมกัน ซึ่งไม่ได้มีแค่นักออกแบบในพื้นที่ภาคใต้อย่างเช่นปีที่แล้ว เพื่อให้เกิดการต่อยอดแลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ๆ ทั้งจากมุมมองของคนนอก รวมถึงความคุ้นเคยและความเชี่ยวชาญของคนในพื้นที่ซึ่งกันและกันSoulSouth Studio ผลัดกันอธิบายว่า การเกิดขึ้นของงานนี้ แท้จริงแล้วคือการเข้าไปเสริมให้ด่านหน้าของชุมชนได้มีศักยภาพทางด้านทุนวัฒนธรรมที่ส่งผลให้นักออกแบบรุ่นใหม่มีเวทีได้แสดงฝีมือร่วมกับชุมชน คล้ายการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้เอ็นจอยปล่อยของจนเห็นผลงานเป็นรูปธรรมมากขึ้น หากมองในเชิงระยะยาวแล้ว การออกแบบก็มีผลดีต่อพื้นที่และผู้คนที่ไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง แต่ทั้งภูมิภาคทางใต้ ทุกคนเหมือนมีแสงสปอตไลต์ส่อง หรือเป็นหยดน้ำเล็กๆ ที่กระจายออกไปในวงกว้าง

May be an image of 2 people, people studying and text

“พวกเราจะถูกสอนมาเสมอว่า ‘การออกแบบคือการแก้ปัญหา’ ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบพื้นที่หนึ่งๆ การออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ หรือการออกแบบสัญลักษณ์ (โลโก้ แพ็กช็อต บิลบอร์ด โปสเตอร์) ที่เข้าใจง่าย เราเป็นแค่คน ‘สร้างภาพ’ ให้เหมาะกับบริบทนั้นเพื่อให้เข้าใจง่ายที่สุด” การีมเสริม ส่วนเปาเล่าอย่างเป็นกันเองว่า การเปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคลหลากหลายเห็นถึงประโยชน์ทางความคิดสร้างสรรค์หรืองานออกแบบเหมือนช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ เพราะนักออกแบบเป็นเหมือนตัวกลางที่ซัพพอร์ตการทำงานทางด้านความคิดสร้างสรรค์ในแง่มุมต่างๆ แล้วแต่บริบท เช่น ผู้คน พื้นที่ ย่าน ชุมชน เมือง รวมไปถึงโครงสร้างอาคาร เป็นต้น เหมือนเช่นการเปิดพื้นที่ให้นักออกแบบได้แสดงศักยภาพว่าสิ่งเดิมเหล่านั้นยังคงอยู่ ไม่หายไปไหน แค่ปรุงความครีเอตให้กลมกล่อมและยืนพื้นจนกลายเป็นรูปธรรมที่เห็นชัด

May be an image of 3 people and text

ความเป็นไปได้ใหม่

กลับมาที่ เรื่องของงานออกแบบ เอาเข้าจริง คำว่า การออกแบบ จะมาคู่กับคำว่า ‘Potential’ หรือ ‘ความเป็นไปได้’ ควบคู่กันมาเสมอ เพราะเมื่อตอนที่ทีม SoulSouth ได้รับโจทย์ให้ออกแบบ Key Visual ของงานในปีนี้ การีมบอกว่าพวกเขาต้องคำนึงถึง ‘ความเป็นไปได้’ ก่อนอันดับแรก นักออกแบบจะต้องทำการบ้านโดยการจินตนาการว่า หากได้รับโจทย์นี้มา งานออกแบบชิ้นนี้จะเป็นไปในทิศทางไหน ต้องสวมตัวเป็นนักจินตนาการแล้วสื่อสารโจทย์นั้นให้กลายเป็นภาพที่สื่อสารเข้าใจง่าย

หากมองกลับมาถึงความเป็นไปได้ใหม่ในบ้านเกิด สำหรับมีนาแล้วเธอมองว่า ถึงแม้ในภาคใต้ยังไม่เด่นมากพอในด้านความคิดสร้างสรรค์ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเลย อย่างน้อยยังมีเวทีให้จัดแสดงผลงานและยังมีคนที่สนใจแนวทางนี้อยู่ แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อสามสี่ปีก่อน แทบจะมองไม่เห็นโอกาสหรือความเป็นไปได้ในสายงานทางด้านความคิดสร้างสรรค์แน่ๆ ถ้าขืนยังอยู่ที่บ้านเกิด

May be an image of 3 people and text

การีมเล่าปิดท้ายว่า “เหมือนเราสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้คนในพื้นที่ เหมือนโพเทนเชียล เหมือนโอกาส เราเป็นเหมือนเคอร์รี่ เป็นแหล่งรวมสินค้าของผู้คนหลายที่มารวมอยู่ด้วยกัน มีนักออกแบบที่คอยให้บริการความรู้หรือลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านหรือผู้ประกอบการในพื้นที่นั้น หรืออาจจะเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่เปรียบเหมือนกระจายความรู้ทางด้านงานออกแบบออกไปสู่สายตาของผู้คน” มีนารีบเสริมว่า “เผื่อจะมีคนมาเห็น Potential นี้แล้วเอากลับไปสานต่อที่บ้านเกิดก็ได้”

#PTDW2024 #PakkTaiiDesignWeek #TheSouthsTurn #ถึงทีใต้ได้แรงอก

แชร์